เสียงและการรบกวนการนอนหลับ
การนอนเป็นส่วนสำคัญของชีวิตที่มีสุขภาพดีและได้รับการยอมรับว่าเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานภายใต้ European Convention on Human Rights (2003) ซึ่งผลกระทบจากเสียงรบกวนมีผลต่อการใช้ชีวิตประจำวันของมนุษย์เรา หนึ่งในนั้นก็คือการเปลี่ยนแปลงและผลกระทบต่อวงจรการนอนหลับ เพราะเสียงดังที่เกิดขึ้นในยามวิกาลหรือยามที่ร่างกายต้องการนอนหลับ จัดเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้ผู้ถูกรบกวนได้รับผลกระทบทั้งทางด้านสุขภาพกายและสุขภาพจิต ผู้ที่ถูกรบกวนการนอนหลับติดต่อกันเป็นระยะเวลาหนึ่งอาจจะเกิดภาวะนอนไม่หลับ (Insomnia) คือ มีอาการนอนหลับยากหรือหลับแล้วตื่นง่ายทำให้รู้สึกนอนไม่พอหรือไม่สดชื่นเมื่อตื่นขึ้นมา
การนอนหลับอย่างมีคุณภาพ
สำหรับคนส่วนใหญ่การนอนหลับอาจไม่ใช่ปัญหา แต่ทราบหรือไม่ว่าการนอนหลับแบบมีคุณภาพนั้นนอกจากจะต้องนอนหลับให้ได้ 7-8 ชั่วโมงแล้ว จะต้องรู้สึกสดชื่นทุกครั้งที่ตื่นนอนด้วย สำหรับการนอนหลับที่ดีควรอยู่ในที่มีระดับเสียงพื้นฐานไม่เกิน 30 dBA และควรหลีกเลี่ยงสถานที่ที่มีระดับเสียงพื้นฐานเกินกว่า 45 dBA หรือสถานที่ที่มีเสียงของการจราจรบนถนน ทางรถไฟ ใกล้สนามบิน งานก่อสร้าง และสถานประกอบกิจการหรือโรงงานอุตสาหกรรมที่มีการทำงานทั้งกลางวันและกลางคืน ซึ่งเสียงดังยามวิกาลจะรบกวนการนอนหลับอย่างมีคุณภาพใน 2 รูปแบบ คือ 1) ทำให้การนอนหลับทำได้ยาก และ 2) ทำให้ตื่นในขณะที่หลับไปแล้ว
ผลกระทบต่อสุขภาพของการนอนไม่หลับ
จากตำรา “Handbook of Noise and Vibration Control: Malcolm J. Crocker 2007” กล่าวว่าในวงการวิทยาศาสตร์มีการเชื่อมโยง “สภาวะการนอนหลับยากจากการรับเสียงรบกวน” เข้ากับ “ปัญหาด้านสุขภาพในระยะยาว” ทำให้พบว่ามีความสัมพันธ์ที่เป็นไปได้ระหว่างระดับเสียงรบกวนและระดับความเครียดของผู้รับเสียง และทำให้เกิดโรคความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดหัวใจ และโรคร้ายแรงอื่นๆตามมา แต่ก็เป็นการยากที่จะระบุว่าสาเหตุของการเกิดโรคมาจากการรับเสียงรบกวนเพียงปัจจัยเดียว เนื่องจากปัจจัยที่ดีในการนอนหลับก็สำคัญ เช่น ความมืด ระดับเสียงที่เหมาะแก่การนอนหลับ อากาศสะอาด ความชื้นและอุณหภูมิที่เหมาะสม
การนอนหลับและเรื่องของตัวเลข
องค์การอนามัยโลก (WHO: The World Health Organization) ได้แนะนำว่าระดับความดันเสียงสูงสุดภายในห้องที่ใช้สำหรับการนอนหลับ (Indoor sound pressure levels) ไม่ควรเกิน 45 dBA (LAFmax) นานกว่า 10-15 นาทีในหนึ่งคืน หรือหากเปรียบกับบ้านที่อยู่ใกล้สนามบินก็ไม่ควรได้ยินเสียงเครื่องบินนานเกินกว่า 10-30 วินาที ที่ระดับเสียงในห้อง 55-60 dBA (LAFmax) และทั้งคืนในช่วงที่มีการนอนหลับการสัมผัสเสียงเฉลี่ย 8 ชั่วโมงไม่ควรเกิน 30 dBA (LAeq8h) ซึ่งตัวเลขที่กล่าวถึงนี้ใช้เป็นส่วนหนึ่งของแนวทางในการบริหารจัดการปัญหามลภาวะทางเสียงกับการนอนหลับเท่านั้น ไม่ใช่ตัวเลขที่นำไปใช้ตัดสินข้อพิพาทหรือปัญหาในแต่ละพื้นที่ได้