เกี่ยวกับเสียง >> ผลกระทบของมลพิษทางเสียง
About noise
เกี่ยวกับเสียง

ผลกระทบของมลพิษทางเสียง

มลพิษทางเสียงก่อให้เกิดผลกระทบหลายประเด็นทั้งผลกระทบต่อสุขภาพและการใช้ชีวิตของมนุษย์ ผลกระทบต่อสถานที่พักผ่อนหย่อนใจและราคาทรัพย์สิน รวมทั้งผลกระทบต่อการใช้ประโยชน์ของที่ดินและราคาอสังหาริมทรัพย์ โดยผลกระทบของมลพิษทางเสียงต่อสุขภาพสามารถเกิดขึ้นได้ทั้งทางตรงและทางอ้อม ทั้งในช่วงเวลากลางคืนและช่วงเวลากลางวัน โดยรายงานขององค์การอนามัยโลก (WHO, 2009) ระบุว่า หากช่วงเวลากลางคืนมีระดับเสียงสูงกว่า 40 dBA ถือว่าเริ่มก่อให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพของมนุษย์ ตั้งแต่ระดับน้อยไปถึงระดับมาก เช่น รำคาญ รบกวนการนอนหลับ เครียด หดหู่ ซึมเศร้า โรคความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดหัวใจ

แหล่งกำเนิดของมลพิษทางเสียง

สำหรับแหล่งกำเนิดของมลพิษทางเสียงนั้นขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมของผู้ได้รับผลกระทบ โดยทั่วไปแล้วแหล่งกำเนิดอาจเป็นไปได้ตั้งแต่ เสียงจากการจราจรบนถนน เสียงยานพาหนะที่จอดรอโดยไม่ดับเครื่องยนต์ เสียงอื้ออึงของกิจกรรมในเมือง เสียงจากเรือยนต์ในแม่น้ำ เสียงจากเครื่องบิน เสียงจากรถไฟ เสียงจากหน่วยงานก่อสร้างหรืองานสาธารณูปโภค เสียงจากร้านอาหารหรือสถานบันเทิง เสียงจากการทำงานของสถานประกอบกิจการหรือโรงงานอุตสาหกรรม เสียงจากสถานที่เล่นกีฬาหรือออกกำลังกาย เสียงจากการใช้เครื่องขยายเสียงในที่สาธารณะ เสียงจากระบบหรืออุปกรณ์การทำงานภายในอาคารพักอาศัย เสียงจากเพื่อนบ้านหรือห้องที่อยู่ติดกัน เป็นต้น

ผลกระทบของมลพิษทางเสียงต่อสุขภาพ

จากรายงานของหน่วยงานด้านสิ่งแวดล้อมในยุโรป (2010) กล่าวถึงปฏิกิริยาตอบสนองต่อการรับเสียงในระยะยาว พบว่ามลพิษทางเสียงสามารถส่งผลต่อระบบต่อมไร้ท่อและระบบประสาทอัตโนมัติทั้งโดยทางตรงและทางอ้อม ซึ่งมีผลต่อระบบรักษาสมดุลของร่างกายอันจะทำให้มีความเสี่ยงต่ออาการผิดปกติในระยะยาว โดยเฉพาะความเกี่ยวพันที่เกิดขึ้นระหว่างการนอนหลับที่จัดได้ว่าเป็นการตอบสนองแบบอัตโนมัติกับเหตุการณ์เสียง รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงความดันโลหิต อัตราการเต้นของหัวใจของคนที่นอนไม่หลับ การเปลี่ยนแปลงของระบบฮอร์โมนในร่างกาย หรือแม้กระทั่งอาการเมื่อยล้าของกล้ามเนื้อส่วนต่างๆในร่างกาย

แนวทางการประเมินผลกระทบของมลพิษทางเสียง

  • ระบุแหล่งกำเนิดเสียงที่เป็นไปได้ทั้งหมดในพื้นที่ที่ทำการวิเคราะห์
  • ระบุพื้นที่ของผู้ที่จะได้รับเสียงในปัจจุบันและอีก 15-20 ปีข้างหน้า
  • กำหนดเกณฑ์หรือค่ามาตรฐานของระดับเสียงที่ผู้รับเสียงจะได้รับ
  • ประเมินระดับเสียงที่ผู้ได้รับผลกระทบจะได้รับในแต่ละพื้นที่
  • จัดทำมาตรการที่เหมาะสมในการป้องกันหรือแก้ปัญหาที่จะเกิดขึ้น
  • หากมีระดับเสียงเกินในพื้นที่ที่กำหนด ให้จัดทำมาตรการควบคุมเสียง
  • จากนั้นทำการตรวจวัดหรือประเมินระดับเสียงอีกครั้งหลังการปรับปรุง