เสียงและการรบกวนการพูดคุย
ปัญหามลภาวะทางเสียงอาจไม่ได้แค่กระทบต่อสุขภาพกายหรือทำให้เกิดการสูญเสียการได้ยิน แต่ยังกระทบกับการใช้ชีวิตประจำวันด้วยก็คือเสียงรบกวนที่กระทบต่อการพูดคุย (Speech Interference) ผลกระทบจากเสียงรบกวนทำให้การพูดเกิดความเข้าใจผิดได้ การติดต่อสื่อสารพูดคุยกันภายในอาคาร อาจได้รับผลการสะท้อนของเสียงตามลักษณะเฉพาะของแต่ละห้อง ซึ่งการสะท้อนของเสียงมากกว่า 1 วินาที จะทำให้การแยกแยะคำพูดและทำให้การรับรู้คำพูดเป็นไปได้ยากขึ้นส่งผลให้เกิดความเครียดและลดระดับความสนใจในการสนทนาลง นอกจากนี้เสียงรบกวนการพูดอาจรวมถึงสัญญาณเสียงอื่นๆ เช่น การจราจร เสียงระบบกระจายอากาศภายในอาคาร สัญญาณเตือนต่างๆ เป็นต้น
ระดับเสียงรบกวน (Noise Rating)
จากตำรา “Springer Handbook of Acoustics” กล่าวว่าระดับเสียงรบกวนที่มีระดับเสียงพื้นฐานคงที่สามารถแบ่งตามมาตรฐาน ASHRAE: American Society of Hearing, Refrigerating and Air-Conditioning Engineers ได้ 2 รูปแบบคือ NCB (Balanced Noise Criterion) และ RC (Room Criterion) โดยที่ NCB คือค่าระดับเสียงที่อัพเดทมาจากค่า NC (Noise Criterion) เพิ่มเติมที่การลงระดับเสียงลึกไปถึงช่วงความถี่ 16 Hz และ 31.5 Hz ข้อแตกต่างที่เห็นได้ชัดระหว่างค่า NCB และค่า RC ก็คือ ค่า NCB จะครอบคลุมลงไปถึงระดับคลื่นความถี่ต่ำ (low-frequency noise) ที่เกิดจากระบบทำความเย็นและกระจายอากาศในอาคาร (HVAC system) โดยระดับเสียงพื้นฐานสำหรับพื้นที่ทั่วไป แสดงไว้ในตารางด้านล่างนี้
Speech Interference Level (SIL)
ระดับการรบกวนต่อการพูดคุย (Speech Interference Level: SIL) ได้ถูกทำการศึกษาและประเมินหาค่าระดับการรบกวนที่จัดทำขึ้นโดย American Standard for Rating Noise with Respect to Speech Interference ด้วยการใช้ค่าเฉลี่ยทางคณิตศาสตร์ของระดับเสียงในแต่ละความถี่ประกอบด้วย 500 Hz 1,000 Hz 2,000 Hz และ 4,000 Hz ยกตัวอย่างเช่น หาก SIL เท่ากับ 40 dB ผู้สนทนาสามารถสื่อสารกันได้ด้วยการใช้ระดับเสียงปกติไกลถึงระยะ 8 เมตร โดยในตำรา Handbook of Environmental Acoustics ของ James P. Cowan ได้อธิยายถึงระดับ SIL ซึ่งมีผลกระทบต่อการพูดคุยสื่อสารทางโทรศัพท์ ดังตารางด้านล่างนี้
ระดับการรบกวนการสื่อสาร (SIL in dB) | ความรู้สึกขณะสื่อสาร |
ต่ำกว่า 60 | เป็นที่น่าพอใจ (satisfactory) |
60-75 | ยากลำบาก (difficult) |
76-85 | ยากลำบากมาก (very difficult) |
มากกว่า 85 | เป็นไปไม่ได้ (impossible) |
ที่มา: Handbook of Environmental Acoustics by James P. Cowan. 1994
ประเภทของพื้นที่ | การใช้งาน | NC | ความดังเสียงไม่เกิน |
พื้นที่ไวต่อการได้ยินเสียง | ห้องอ่านข่าว สตูดิโอ | 15-20 | 25 dBA |
พื้นที่ต้องการความเงียบพิเศษ | ศาสนสถาน ห้องชมภาพยนตร์ | 20-25 | 30 dBA |
พื้นที่ที่ต้องการความเงียบ | ห้องประชุม ห้องผู้บริหาร | 25-30 | 35 dBA |
พื้นที่ใช้สอยส่วนบุคคล | ออฟฟิศ ที่พักอาศัย โรงแรม | 30-35 | 40 dBA |
พื้นที่ใช้สอยสาธารณะ | ภัตตาคาร ร้านกาแฟ คลีนิค | 35-40 | 45 dBA |
พื้นที่ให้บริการขนาดใหญ่ | พื้นที่จัดแสดงคอนเสิร์ต นิทรรศการ | 40-45 | 50 dBA |
ที่มา: ตำรา Springer Handbook of Acoustics. 2007.