ความรู้ >> มาตรการอนุรักษ์การได้ยินในสถานประกอบกิจการ
KNOWLEDGE
ความรู้

มาตรการอนุรักษ์การได้ยินในสถานประกอบกิจการ

มาตรการอนุรักษ์การได้ยิน หรือที่ NIOSH เรียกว่า โครงการป้องกันภาวะการสูญเสียสมรรถภาพการได้ยิน เป็นโครงการที่กำหนดขึ้นตามกฎหมายเพื่อให้สถานประกอบการต่างๆ สามารถป้องกันและลดจำนวนผู้มีภาวะสูญเสียสมรรถภาพการได้ยินจากเสียงดัง โดยการดำเนินการตามมาตรการอนุรักษ์การได้ยินนี้ครอบคลุม ทั้งการเฝ้าระวังเสียงดังในสถานประกอบการให้อยู่ในระดับที่กฎหมายกำหนด การเฝ้าระวังสมรรถภาพการได้ยิน การควบคุมการสัมผัสเสียงดังและการสวมใส่อุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคล การติดป้ายเตือนอันตรายจากเสียงดัง รวมถึงการจัดอบรมให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับมาตรการอนุรักษ์การได้ยิน

โดยข้อกำหนดตามกฎหมายของประเทศไทยคือ ประกาศกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการจัดทำมาตรการอนุรักษ์การได้ยินในสถานประกอบกิจการ พ.ศ. 2561 กฎหมายฉบับนี้เป็นกฎหมายที่สนับสนุนให้สถานประกอบกิจการต่างๆ ที่มีสภาพแวดล้อมเสียงดัง ได้จัดทำมาตรการอนุรักษ์การได้ยินขึ้น เพื่อป้องกันไม่ให้พนักงานเกิดภาวะการสูญเสียสมรรถภาพการได้ยินจากการทำงานสัมผัสเสียงดัง โดยให้นายจ้างจัดทำมาตรการอนุรักษ์การได้ยินในสถานประกอบกิจการ ในกรณีที่สภาวะการทำงานในสถานประกอบกิจการมีระดับเสียง ที่ลูกจ้างได้รับเฉลี่ยตลอดระยะเวลาการทำงาน  8 ชั่วโมงตั้งแต่ 85 เดซิเบลเอ ขึ้นไป และหากผลการทดสอบสมรรถภาพการได้ยิน พบว่าลูกจ้างสูญเสียการได้ยินที่หูข้างใดข้างหนึ่งตั้งแต่ 15 เดซิเบล ขึ้นไป ที่ความถี่ใดความถี่หนึ่ง

สำหรับในประเทศสหรัฐอเมริกานั้น คณะกรรมการบริหารงานความปลอดภัย และสุขภาพอนามัยจากการประกอบอาชีพ (OSHA) ได้กำหนดมาตรการอนุรักษ์การได้ยินขึ้น เพื่อเป็นแนวทางในการป้องกันมิให้เกิดภาวะการสูญเสียสมรรถภาพการได้ยินจากการทำงานสัมผัสเสียงดัง นอกจากนี้ยังมีหน่วยงานวิจัยด้านสุขภาพและความปลอดภัยในการทำงาน (NIOSH) ก็มีโครงการป้องกันภาวะการสูญเสียสมรรถภาพการได้ยิน เพื่อป้องกันมิให้เกิดภาวะการสูญเสียสมรรถภาพการได้ยินจากการทำงานสัมผัสเสียงดังขึ้นเช่นกัน

บริษัท นิวเทค อินซูเลชั่น จำกัด เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการและควบคุมมลพิษทางเสียง มีบริการงานตรวจวัด วิเคราะห์ และประเมินค่าระดับการรบกวน ค่ามาตรฐานเสียงในการปฏิบัติงาน พร้อมให้คำปรึกษาและหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาด้านเสียงให้สอดคล้องตามกฎหมาย

เครดิต (เนื้อหาบางส่วนจาก) : วารสารสมาคมเวชศาสตร์ป้องกันแห่งประเทศไทย