ความรู้ >> กฎหมายและมาตรฐานเสียงในงานอาชีวอนามัย
KNOWLEDGE
ความรู้

การสัมผัสเสียงดังต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน อาจมีผลต่อความสามารถในการได้ยินในอนาคต ดังนั้น ในสถานประกอบกิจการโรงงานอุตสาหกรรม จึงให้ความสำคัญต่อผู้ปฏิบัติงานที่ต้องสัมผัสเสียงดังตลอดระยะเวลาการทำงาน

พารามิเตอร์เสียงในงานอาชีวอนามัยที่กำหนดในกฎหมายของประเทศไทย ในการตรวจวัดเสียง มีทั้งหมด 4 พารามิเตอร์ ดังนี้

1. ระดับเสียงเฉลี่ยตลอดระยะเวลาทำงาน (TWA) หน่วยเป็นเดซิเบลเอ (dBA) หรือค่า Equivalent continuous sound level (LAeq) จากเครื่องมือตรวจวัด ซึ่งตามกฎหมายกำหนดเป็นระดับเสียงเฉลี่ยตลอดระยะเวลาการทำงาน 8 ชั่วโมง ที่กฎหมายไทย (ประกาศกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เรื่อง มาตรฐานระดับเสียงที่ยอมให้ลูกจ้างได้รับเฉลี่ยตลอดระยะเวลาการทำงานในแต่ละวัน พ.ศ. 2561) กำหนดให้ไม่เกิน 85 dBA

2. ระดับเสียงสูงสุด (Peak sound pressure level: Lpeak) ของเสียงกระทบหรือกระแทก (Impact noise or Impulse noise) กฎหมายไทย (กฎกระทรวงแรงงาน พ.ศ. 2559 ราชกิจจานุเบกษา 17 ตุลาคม 2559) กำหนดไว้ไม่เกิน 140 dB หรือระดับเสียงดังต่อเนื่องแบบคงที่ (Continuous steady noise ; LpC) มิให้เกินกว่า 115 dBA

3. เวลาการทำงานที่ยอมให้ได้รับสัมผัสเสียง (T) หน่วยเป็นชั่วโมง และมีอัตราการเปลี่ยนแปลงพลังงานเสียงที่ทำให้ระยะเวลาได้รับสัมผัสเสียงเปลี่ยนไป (Energy Exchange Rate) ของค่ามาตรฐานระดับเสียงที่ใช้เปรียบเทียบเพื่อคำนวณหาระยะเวลา (T) โดยการคำนวณระยะเวลาที่ยอมให้สัมผัสเสียงดัง (นาที) ตามประกาศกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เรื่อง มาตรฐานระดับเสียงที่ยอมให้ลูกจ้างได้รับเฉลี่ยตลอดระยะเวลาการทำงานในแต่ละวัน พ.ศ. 2561 (ราชกิจจานุเบกษา 26 มกราคม พ.ศ.2561) ได้กำหนด TWA = 85 dBA มี Exchange Rate = 3 dBA จากสูตร ดังนี้

T  =  8 / 2^{ (L-85)/3 }

 เมื่อ     T      หมายถึง เวลาการทำงานที่ยอมให้ได้รับเสียง (ชั่วโมง)

          L      หมายถึง ระดับเสียง (dBA)

  คือ เมื่อระดับเสียงเพิ่มขึ้นครั้งละ 3 dBA จะทำให้ระยะเวลาในการทำงานที่สามารถสัมผัสเสียงได้ปลอดภัย ลดลงเหลือครึ่งหนึ่ง (ระยะเวลาถูกหารด้วย 2)

4. ปริมาณเสียงสะสม หรือ Noise Dose (D) การคำนวนปริมาณการรับสัมผัสเสียงสะสมคิดเป็นเปอร์เซ็นต์ (D) ที่คนงานสัมผัส (L) ในระยะเวลาการทำงาน (T) ที่แตกต่างกันตั้งแต่สองช่วงขึ้นไป สามารถคำนวณได้ตามประกาศกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (ฉบับราชกิจจานุเบกษา 12 มีนาคม พ.ศ.2561) เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการตรวจวัด และการวิเคราะห์ สภาวะการทำงานเกี่ยวกับเสียง

 

 

การคำนวณปริมาณเสียงสะสมกรณีที่ลูกจ้างปฏิบัติงานมีระดับเสียงดังไม่สม่ำเสมอ หรือลูกจ้างต้องย้ายการทำงานไปยังจุดต่าง ๆ ที่มีระดับเสียงดังแตกต่างกัน ให้ใช้สูตรในการคำนวณหาระดับเสียงเฉลี่ยตลอดเวลาการทำงานในแต่ละวัน ดังนี้

 

D   =     (C1/T1) + (C2T2) +……+(Cn/Tn) x 100

 

และ TWA(8) =      [10.0 x log (D/100)] + 85

เมื่อ     D   =    ปริมาณเสียงสะสมที่ปฏิบัติงานได้รับ หน่วยเป็นร้อยละ

         C   =    ระยะเวลาที่สัมผัสระดับเสียง

         T   =    ระยะเวลาที่อนุญาตให้สัมผัสระดับเสียงนั้น ๆ

TWA (8)     =     ระดับเสียงเฉลี่ยตลอดเวลาการทำงาน 8 ชั่วโมง/วัน (TWA(8)) ที่คำนวณได้ต้องไม่เกิน 85 dBA

การตรวจวัดเสียงจากโรงงานอุตสาหกรรม ต้องตรวจวัดระดับเสียงในสถานที่ทำงาน หรือภายในกระบวนการผลิตต่างๆ ของโรงงานเพื่อป้องกันการสูญเสียการได้ยินของผู้ปฏิบัติงาน นอกจากนี้ในกรณีที่ โรงงานอยู่ใกล้แหล่งชุมชนต่างๆ อาจจำเป็นต้องมีการตรวจวัดระดับเสียงรบกวนและระดับเสียงที่เกิดจากการประกอบกิจการโรงงานเพื่อป้องกันปัญหาเหตุเดือดร้อนรำคาญ และสุขภาพของประชาชนที่อาจได้รับผลกระทบ จากการประกอบกิจการโรงงานของโรงงานนั้น ๆ

บริษัท นิวเทค อินซูเลชั่น จำกัด ยินดีให้คำปรึกษาเกี่ยวกับการควบคุมเสียงอุตสาหกรรม พร้อมออกแบบและติดตั้งระบบลดเสียงด้วยมาตรการทางวิศวกรรม เพื่อควบคุมระดับความดันเสียงให้อยู่ในระดับที่กฎหมายกำหนด เพื่ออาชีวอนามัยและความปลอดภัยของผู้ปฏิบัติงาน 

 

จากตำราการควบคุมและจัดการมลพิษทางเสียงและการสั่นสะเทือนในงานอุตสาหกรรม

--สาขาวิชาวิทยาศาสตร์สุขภาพ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช--