ความรู้ >> 10 ข้อสำคัญที่ทำให้การแก้ปัญหาเสียงดังไม่ได้ผล
KNOWLEDGE
ความรู้

10 ข้อสำคัญที่ทำให้การแก้ปัญหาเสียงดังไม่ได้ผล
ผู้ประกอบการหรือเจ้าของโครงการที่ประสบปัญหาเกี่ยวกับเสียงดัง และว่าจ้างผู้ให้บริการควบคุมเสียงเข้าไปดำเนินการแก้ไขปัญหาเสียงดังภายในโรงงานหรือสถานประกอบการ อาจเคยพบกับประสบการณ์การแก้ปัญหาแล้วการลดเสียงไม่เป็นไปตามที่คาดหวัง หรือไม่ได้ผล ระดับความดังของเสียงไม่ลดลง สูญเสียทั้งงบประมาณและเวลาไปโดยเปล่าประโยชน์ สาเหตุของปัญหาคืออะไรและมีวิธีการแก้ไขอย่างไร ทีมงานวิศวกร และนักสิ่งแวดล้อมอุตสาหกรรมของ NTi มีคำตอบ ดังต่อไปนี้

ข้อ 1 ใช้ความรู้สึกในการแก้ปัญหา
ความรู้สึก หรือประสาทสัมผัสของมนุษย์นั้นไม่แน่นอน แปรผันไปตามสภาพตัวแปร เช่น สภาพอารมณ์ จิตใจ ประสบการณ์ส่วนบุคคล ดังนั้นการใช้ข้อมูลการสังเกตของมนุษย์มาเป็นบรรทัดฐานหลักในการแก้ไขปัญหาเสียงดังย่อมมีความคลาดเคลื่อน ไม่สามารถเชื่อถือได้ การใช้เครื่องมือและอุปกรณ์ที่ออกแบบมาโดยเฉพาะสำหรับการวัดและแก้ปัญหาเสียงดัง และได้รับการรับรองตรวจสอบมาตรฐาน จึงเป็นวิธีที่มีความน่าเชื่อถือถูกต้องแม่นยำกว่าการเชื่อประสาทสัมผัสหรือการคาดการณ์ของมนุษย์

ข้อ 2 ไม่เข้าใจคุณสมบัติของวัสดุที่ใช้
วัสดุต่างๆ ที่นำมาใช้เป็นส่วนประกอบของฉนวนกันเสียง หรือวัสดุดูดซับเสียงนั้น มีคุณสมบัติและการใช้งานต่างกันไปในแต่ละชนิด ผู้ที่เลือกใช้วัสดุควรมีความรู้อย่างละเอียดเกี่ยวกับคุณสมบัติความสามารถ หรือข้อเด่นข้อด้อยในแต่ละวัสดุอย่างละเอียด การเลือกใช้วัสดุดูดซับเสียงที่ไม่ถูกต้องตามความเหมาะสมของหน้างาน ทำให้การลดเสียงไม่ได้ผล หรือเสียงไม่ลดลงตามระดับที่คาดหวังไว้

ข้อ 3 แนวทางการปรับปรุงการลดเสียงไม่ตรงกับปัญหา
เมื่อทราบถึงสาเหตุปัญหาแล้ว การเลือกวิธีการแก้ปัญหาที่สอดคล้องกับสาเหตุของเสียงดังมีความสำคัญมาก โดยปกติการแก้ปัญหาเสียงดังมักมีการแก้ไขได้หลายวิธีซึ่งแต่ละวิธีมีข้อดี ข้อเสียและความสอดคล้องกับปัญหาแตกต่างกัน ผู้แก้ไขปัญหาเสียงดังต้องเลือกหรือแจ้งข้อแตกต่างของแต่ละวิธีให้ผู้ว่าจ้างทราบ หากเลือกวิธีที่ไม่ตรงกับหลักการทางวิชาการหรือทฤษฎี การแก้ไขปัญหาย่อมไม่ได้ผลตามต้องการ

ข้อ 4 ชี้บ่งแหล่งกำเนิดเสียงผิด
อาจเกิดได้หลายสาเหตุ เช่น สาเหตุจากข้อ 1 ใช้ความรู้สึกหรือประสบการณ์ส่วนบุคคลเป็นตัวชี้บ่งแหล่งกำเนิดเสียง ซึ่งหูของมนุษย์มีข้อจำกัด ดังนั้นการชี้บ่งแหล่งกำเนิดเสียงจึงควรใช้เครื่องมือที่ได้มาตรฐานและมีการสอบเทียบความแม่นยำของอุปกรณ์ตามกำหนดการอย่างสม่ำเสมอ โดยอ้างอิงตามหลักวิชาการ

ข้อ 5 ขาดข้อมูลที่สำคัญของพารามิเตอร์เกี่ยวกับเสียง
การประเมินเลือกวิธีการลดเสียงที่สามารถแก้ไขปัญหาเสียงดังได้อย่างมีประสิทธิภาพและได้ผล จำเป็นอย่างมากที่ต้องมีข้อมูลที่ครบถ้วนและถูกต้องตรงกับหน้างาน เนื่องจากต้องนำข้อมูลดังกล่าวมาใช้คำนวณโดยโปรแกรม หรือใช้ตัดสินใจเลือกวิธีการควบคุมเสียง ตลอดจนเลือกวัสดุอุปกรณ์ที่เหมาะสมต่อไป

ข้อ 6 ไม่มีเครื่องมือที่ได้มาตรฐานและผ่านการสอบเทียบ
การใช้ความรู้สึกหรือการคาดเดาข้อมูล ไม่สามารถทำให้การควบคุมเสียงเสียงดังมีประสิทธิภาพ เครื่องมือวัดเสียงจึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างมากสำหรับงานแก้ปัญหาเสียงดัง และเช่นเดียวกับอุปกรณ์อื่นๆ เครื่องมือจำเป็นต้องมีการตรวจสอบความแม่นยำ และสภาพความสมบูรณ์ของอุปกรณ์ โดยมีการสอบเทียบความเที่ยงตรงและประสิทธิภาพของเครื่องมือโดยหน่วยงานที่มีมาตรฐาน ตรงตามรอบกำหนดเวลาที่กำหนดไว้ตามหลักสากล

ข้อ 7 เน้นวิธีการที่ถูกเงิน ถูกใจ ไม่มีหลักการและเหตุผล
การเลือกซื้อสินค้าและบริการโดยทั่วไป ผู้ซื้ออาจเลือกซื้อโดยใช้เกณฑ์ราคาถูกและตรงกับความต้องการเป็นหลัก แต่หลักดังกล่าวไม่สามารถใช้ได้กับการแก้ปัญหาเสียงดังได้ บ่อยครั้งที่การแก้ปัญหาเสียงดังไม่ได้ผล เนื่องจากเกณฑ์การตัดสินใจขึ้นอยู่กับ งบประมาณที่ถูกจำกัดมากจนเกินความเหมาะสม ความคิดเห็นส่วนตัว โดยไม่สนใจหรือไม่ให้ความสำคัญกับข้อมูล ข้อเท็จจริงที่ได้จากการตรวจสอบหน้างาน การวิเคราะห์เลือกวิธีการลดเสียงจึงควรทำตามผลการวัดเสียง และหลักการการลดเสียงที่ตรงตามหลักวิทยาศาสตร์สากล โดนยึดถือข้อมูล ข้อเท็จจริง เป็นหลักเกณฑ์ในการตัดสินใจ

ข้อ 8 ไม่มีประสบการณ์ในการใช้เครื่องมือให้เป็นไปตามมาตรฐาน
ความรู้ความเข้าใจในการใช้อุปกรณ์เป็นปัจจัยที่สำคัญอย่างยิ่งในการวัดค่าพารามิเตอร์ต่างๆ ซึ่งต้องนำมาใช้เป็นข้อมูลต่อในการคิดคำนวณ เพื่อนำไปออกแบบแนวทางการลดเสียง การอบรมเจ้าหน้าที่และทดสอบความสามารถก่อนออกปฏิบัติงาน จึงเป็นเรื่องที่ต้องให้ความสำคัญเป็นลำดับต้นๆ เมื่อต้องนำข้อมูลมาใช้เพื่อออกแบบแนวทางการลดเสียง

ข้อ 9 ไม่มีการคำนวณประสิทธิภาพของระบบลดเสียงแต่ละแนวทาง
โดยทั่วไปเมื่อเจ้าหน้าที่เข้าตรวจสอบหน้างาน มักจะมีแนวทางที่สามารถแก้ไขปัญหาเสียงดังได้มากกว่า 1 แนวทาง การสรุปผลการคำนวณแนวทางการลดเสียงในแต่ละวิธีอย่างละเอียดเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างมากในการตัดสินใจ เนื่องจากสามารถทราบงบประมาณที่เหมาะสม หรือระดับเสียงที่ลดลงในแต่ละวิธี ซึ่งแต่ละวิธีก็มีประสิทธิภาพการลดเสียงได้แตกต่างกันออกไป

ข้อ 10 ขาดความรู้และความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับหลักควบคุมเสียง
การแก้ไขปัญหาเสียงดังนั้น อาจกล่าวได้ว่าเป็นเรื่องที่ค่อนข้างมีความซับซ้อน และมีตัวแปรต่างๆ ที่เข้ามาเกี่ยวข้องในปริมาณมาก และต้องใช้หลักการทางวิทยาศาสตร์ ทฤษฎีที่ได้รับการยอมรับตามหลักสากลเข้ามาใช้ในการคำนวณ และประเมินผล ผู้มีความรู้ความเข้าใจถูกต้องเกี่ยวกับหลักควบคุมเสียงเท่านั้นจึงจะทำให้การแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับเสียงมีประสิทธิภาพ โดยควรเป็นผู้ได้รับการอบรมตามสายงานเฉพาะทาง ซึ่งมีความรู้และประสบการณ์เกี่ยวกับหลักควบคุมเสียงโดยตรง

จะเห็นได้ว่าสาเหตุที่ทำให้การแก้ปัญหาเสียงดังไม่ได้ผลมักเกิดจากการไม่ให้ความสำคัญกับข้อมูล ทฤษฎี ความรู้ หรือแนวคิดตามหลักควบคุมเสียงสากล เชื่อความรู้สึกส่วนตัวและขาดความรู้ความเข้าใจอย่างแท้จริง ฉะนั้นก่อนรับบริการแก้ไขปัญหาเสียงดังควรตรวจสอบผู้ให้บริการว่ามีความรู้ความสามารถ และมีอุปกรณ์ที่ได้มาตรฐานและมีการสอบเทียบความแม่นยำอย่างสม่ำเสมอหรือไม่ ซึ่ง NTi ให้ความสำคัญกับประเด็นดังกล่าวเป็นลำดับแรกของกระบวนการทำงาน เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานควบคุมเสียงต้องผ่านการอบรมและเป็นผู้มีประสบการณ์ มีความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับหลักควบคุมเสียง สามารถแก้ไขปัญหาได้ตรงตามหลักวิชาการ มีอุปกรณ์ครบถ้วนและทุกชิ้นผ่านการสอบเทียบ มีความเที่ยงตรงตามหลักมาตรฐานสากลจากหน่วยงานที่เชื่อถือและตรวจสอบได้ รับรองประสิทธิภาพการแก้ปัญหาเสียงดัง และการควบคุมเสียง

 

สงวนลิขสิทธิ์ 2565  โดย บจก.นิวเทค อินซูเลชั่น