ความรู้ >> ไซเลนเซอร์ลดเสียงได้อย่างไร
KNOWLEDGE
ความรู้

ไซเลนเซอร์ลดเสียงได้อย่างไร

อุปกรณ์ลดเสียงที่ใช้แก้ปัญหาจากเสียงรบกวนของท่อไอเสีย ท่อส่งลม ท่อจ่ายลม หรือท่อปล่อยลมที่ผ่านการบำบัดมลพิษอากาศแล้ว เรียกว่าไซเลนเซอร์ (silencer) ซึ่งไซเลนเซอร์ที่ออกแบบได้ถูกต้องตามหลักวิศวกรรมนั้นจะช่วยลดเสียงได้เฉลี่ย 30-40 dBA และมีปัจจัยสำคัญในการออกแบบที่ต้องคำนึงถึงอยู่ 3 ค่า คือ

  1. ค่าการลดลงของระดับความดันเสียง (Insertion Loss)
  2. ค่าการสูญเสียแรงดันภายในของระบบ (Pressure Loss)
  3. ค่าเสียงที่เพิ่มขึ้นจากตัวของไซเลนเซอร์เอง (Regenerated Noise)

ไซเลนเซอร์ที่ออกแบบไม่เหมาะสมนอกจากจะไม่ช่วยให้ระดับความดันเสียงลดลงแล้ว ยังมีโอกาสทำให้เสียงที่ผ่านเข้ามาเกิดเสียงดังมากขึ้นกว่าเดิม ส่งผลให้ต้องถอดทิ้งหรือส่งกลับให้ผู้ผลิตแก้ไขใหม่ ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ควรเกิดขึ้น เพราะนอกจากจะทำให้เสียเวลาและค่าใช้จ่ายแล้ว อาจจะทำให้ปัญหาเสียงรบกวนลุกลามบานปลายได้อีกด้วย

ไซเลนเซอร์กับระดับความดันเสียงที่ลดลง

ปัจจุบันไซเลนเซอร์ที่ใช้แก้ปัญหาเสียงดังเกินค่ามาตรฐานในโรงงานอุตสาหกรรม จะมีอยู่ 2 ประเภท ดังนี้

      1. รีแอ็คทีฟ ไซเลนเซอร์ (Reactive Silencers)

ใช้ลดเสียงของท่อหรือเครื่องจักรที่มีความเร็วรอบต่ำ หรืออุปกรณ์ที่มีความเร็วคงที่และเกิดความถี่รบกวนโดดเด่นในแบบความถี่เดียว (pure tones) ไซเลนเซอร์ชนิดนี้ถูกออกแบบภายในปราศจากวัสดุดูดกลืนเสียง แต่จะใช้หลักการสะท้อนของคลื่นเสียงเกิดขึ้นภายในจากท่อเล็กๆที่ถูกเจาะรูขนาดต่างๆ ตามลักษณะของความถี่เสียงและความยาวของคลื่นเสียงที่เป็นปัญหา ซึ่งหลักการลดเสียงแบบนี้จะใช้ไม่ได้ผลกับปัญหาเสียงในช่วงความถี่สูง

      2. ดิสสิเพทีฟ ไซเลนเซอร์ (Dissipative Silencers)

เป็นไซเลนเซอร์ที่นิยมใช้กันมากที่สุดเนื่องจากมีความสามารถในการลดเสียงที่ช่วงความถี่กลางถึงความถี่สูงได้ดี (wide range of frequencies) จัดได้ว่าเป็นอุปกรณ์ลดเสียงที่เหมาะสำหรับแหล่งกำเนิดเสียงหลายความถี่ หรือที่เรียกว่า “wide band noise sources” เช่น พัดลมอุตสาหกรรม เครื่องยนต์สันดาปภายใน เป็นต้น ไซเลนเซอร์ชนิดนี้จะใช้วัสดุดูดกลืนเสียง (absorbing materials) เช่น ฉนวนใยหิน ฉนวนใยแก้วความหนาแน่นสูง กรุไว้ด้านใน เพื่อเปลี่ยนพลังงานเสียงเป็นพลังงานความร้อน ทำให้เสียงที่ผ่านอุปกรณ์ชุดนี้มีระดับความดันเสียงลดลง ซึ่งจะลดลงเท่าใดนั้นสามารถออกแบบและคำนวณได้ จากความถี่เสียง กำลังงานเสียง และค่าระดับเสียงก่อนหลังการปรับปรุงที่ต้องการ

หากใครกำลังประสบปัญหาข้อร้องเรียนด้านเสียงรบกวนหรือเสียงเกินค่ามาตรฐานในโรงงาน จากท่อปล่อยลม ท่อไอเสีย ท่อระบายอากาศ หรือระบบอื่นๆ และต้องการลดเสียงด้วยการใช้ไซเลนเซอร์ สามารถขอคำแนะนำจากฝ่ายวิศวกรรมงานเสียง ของทาง บจก.นิวเทค อินซูเลชั่น ในเบื้องต้นได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย เพราะปณิธานด้านเสียงของเราในเรื่องเสียงคือ “โรงงานอยู่ได้ ชุมชนอยู่ได้”

สงวนลิขสิทธิ์ 2565 โดย บริษัท นิวเทค อินซูเลชั่น จำกัด