ความรู้ >> กระบวนการแก้ไขปัญหาเสียงดังในโรงงานแบบมืออาชีพ
KNOWLEDGE
ความรู้

กระบวนการแก้ไขปัญหาเสียงดังในโรงงานแบบมืออาชีพ

ปัญหาเสียงดังในโรงงานเป็นปัญหาที่มักจะเกิดขึ้นกับผู้ประกอบการในธุรกิจอุตสาหกรรมที่มีการใช้เครื่องจักรที่ก่อให้เกิดเสียงดังในขั้นตอนการผลิต ซึ่งปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาที่ไม่สามารถละเลยได้ เนื่องจากจะส่งผลกระทบอย่างมากต่อธุรกิจในอนาคต เช่น ผลกระทบต่อพนักงานผู้ปฏิบัติงานเมื่ออยู่ในบริเวณที่มีเสียงดังเกินค่ามาตรฐาน นอกจากผลกระทบด้านความเดือดร้อนรำคาญแล้ว ยังส่งผลต่อสุขภาพโดยตรง ทั้งความบกพร่องทางการได้ยิน และผลเสียต่อสุขภาพจิต ซึ่งล้วนส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพในการทำงานทั้งสิ้น อีกประการหนึ่งคือ ผลกระทบต่อธุรกิจทางด้านกฎหมาย ตามประกาศกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เรื่อง มาตรฐานระดับเสียงที่ยอมให้ลูกจ้างได้รับเฉลี่ยตลอดระยะเวลาการทำงานในแต่ละวัน พ.ศ. 2561 “นายจ้างต้องควบคุมระดับเสียงที่ลูกจ้างได้รับเฉลี่ยตลอดระยะเวลาการทำงานในแต่ละวัน (Time Weighted Average-TWA) มิให้เกินมาตรฐานตามที่กำหนด  โดยหน่วยวัดระดับเสียงดังที่ใช้ในประกาศนี้คือหน่วยเป็นเดซิเบลเอ” โดยผลกระทบดังกล่าวอาจส่งผลต่อธุรกิจอย่างรุนแรงได้ เนื่องจากเป็นข้อกำหนดที่กฎหมายกำหนดไว้ ดังนั้นผู้ประกอบการควรทราบถึงขั้นตอนเบื้องต้นที่ผู้เชี่ยวชาญในการควบคุมเสียงใช้ในการทำงานเมื่อต้องการแก้ปัญหาเสียงดังในโรงงาน เพื่อสามารถประเมินผู้ให้บริการควบคุมเสียงได้เบื้องต้น ว่ามีหลักการทำงานตรงตามทฤษฎีหรือข้อปฏิบัติตามหลักสากลหรือไม่ ซึ่งจะนำไปสู่การแก้ปัญหาเสียงดังในโรงงานที่มีประสิทธิภาพต่อไป

จะทราบได้อย่างไรว่าโรงงานเสียงดังเกินค่ามาตรฐาน
          กฎกระทรวงแรงงาน เรื่องมาตรฐานในการบริหารจัดการและดำเนินการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานเกี่ยวกับความร้อน แสงสว่าง และเสียง พ.ศ. 2559 (ราชกิจจานุเบกษา 17 ตุลาคม 2559) รวมถึงประกาศกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เรื่องมาตรฐานระดับเสียงที่ยอมให้ลูกจ้างได้รับเฉลี่ยตลอดระยะเวลาการทำงานในแต่ละวัน (ราชกิจจานุเบกษา 26 มกราคม 2561) ซึ่งมีเนื้อหาโดยสังเขปคือ ระดับเสียงเฉลี่ย 8 ชั่วโมงการทำงาน (TWA8) ต้องไม่เกิน 85 dBA ระดับเสียงสูงสุดของเสียงกระทบหรือกระแทกต้องไม่เกิน 140 dB และการสัมผัสเสียงดังต่อเนื่องแบบคงที่ต้องไม่เกินกว่า 115 dBA จากกฎหมายและข้อปฏิบัติดังกล่าวการที่จะทราบว่าค่าระดับเสียงเกินมาตรฐานหรือไม่ จำเป็นต้องมีการเข้าตรวจวัดเสียงในพื้นที่โรงงาน เพื่อจัดทำข้อมูลระดับเสียงที่ลูกจ้างหรือพนักงานสัมผัส สำหรับนำมาใช้ในการประเมินการสัมผัสเสียงว่าเกินมาตรฐานที่กฎหมายกำหนดไว้หรือไม่ โดยในการตรวจวัดเสียงจำเป็นต้องมีเจ้าหน้าที่ซึ่งมีความรู้ความเชี่ยวชาญเฉพาะทางเกี่ยวกับเสียง และมีเครื่องมือที่ใช้ในการวัดเสียงที่ได้มาตรฐานตรงกับหลักสากล มีการสอบเทียบความเที่ยงตรงแม่นยำตามกำหนดอย่างสม่ำเสมอ จากนั้นเมื่อทราบว่าเสียงดังเกินค่ามาตรฐานหรือไม่จากการเข้าตรวจวัดเสียงในโรงงานแล้ว ขั้นตอนต่อไปคือการหาแหล่งกำเนิดของเสียง

การหาแหล่งกำเนิดของเสียง
         
การหาแหล่งกำเนิดของเสียง หรือการหาว่าเสียงดังมาจากแหล่งกำเนิดใดในโรงงาน สามารถทำได้โดยใช้วิธีหาความถี่ของเสียง (Octave Analysis) ร่วมกับการวิเคราะห์ FFT (Fast Fourier Transform) ซึ่งเป็นเทคนิคที่ช่วยยืนยันที่มาของเสียงรบกวน และยังช่วยให้ทราบถึงลักษณะความถี่ที่แหล่งกำเนิดเสียงอีกด้วย ส่งผลให้การวิเคราะห์หาแนวทางการลดเสียงสามารถทำได้ตรงจุด เลือกวัสดุหรือวิธีการแก้ปัญหาได้แม่นยำ และยังสามารถนำข้อมูลที่ได้มาทำแผนที่ความถี่เสียง เพื่อสื่อสารกับผู้เกี่ยวข้องในโครงการลดเสียงได้อีกด้วย

เลือกแนวทางและวัสดุที่ใช้ในการลดเสียง
          แนวทางและวัสดุที่ใช้ในการลดเสียงต้องพิจารณาให้สอดคล้องกับข้อมูลที่ได้จากการวัดเสียงและแหล่งกำเนิดของเสียง ซึ่งแต่ละวิธีและแต่ละวัสดุก็มีคุณสมบัติ จุดเด่น จุดด้อย และงบประมาณที่ใช้ต่างกัน ประสบการณ์และความรู้ความเข้าใจของผู้เชี่ยวชาญด้านการควบคุมเสียงจึงมีความสำคัญต่อโครงการวัดเสียงเป็นอย่างมาก โดยอาจมีการใช้เทคนิคการสร้างแบบจำลองทางเสียงมาใช้ร่วมด้วย เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการตัดสินใจเลือกแนวทางและวัสดุที่ใช้ในการลดเสียง เมื่อพบปัญหาด้านเสียงที่ซับซ้อนและมีค่าใช้จ่ายในการปรับปรุงสูง ช่วยประหยัดเวลา ค่าใช้จ่าย ทรัพยากรต่างๆ ที่ต้องนำมาใช้แก้ปัญหา

ประเมินผลโครงการลดเสียง
          หลังจากการเลือกแนวทางและวัสดุ และปฏิบัติตามแผนงานแล้วเสร็จ ขั้นตอนต่อไปคือทำการประเมินผลที่ได้จากการดำเนินการตามโครงการลดเสียง หากแนวทางและวัสดุที่เลือกใช้ยังไม่สามารถแก้ปัญหาเสียงดัง หรือลดเสียงได้ตามแผนของโครงการ จะต้องกลับไปยังกระบวนการเลือกแนวทางและวัสดุที่ใช้ในการลดเสียงเพื่อทบทวนแนวทางและวัสดุที่เหมาะสมอีกครั้ง จนกว่าผลลัพธ์ที่ได้จากการประเมินผลโครงการจะตรงตามความต้องการ หรือจนกระทั่งค่าระดับเสียงลดลงตามแผนงานที่วางไว้
          กล่าวโดยสรุปการแก้ไขปัญหาเสียงดังในโรงงานให้มีประสิทธิภาพสูงสุดควรมีลำดับขั้นตอนการแก้ไขปัญหาเริ่มตั้งแต่การเข้าตรวจวัดเสียงในพื้นที่โดยผู้เชี่ยวชาญ เพื่อตรวจสอบว่ามีระดับเสียงดังเกินค่ามาตรฐานหรือไม่ จากนั้นจึงหาแหล่งกำเนิดของเสียงโดยใช้วิธีหาความถี่ของเสียง (Octave Analysis) ร่วมกับการวิเคราะห์ FFT (Fast Fourier Transform) เพื่อทราบแหล่งกำเนิดของเสียงที่ชัดเจน นำไปสู่การเลือกแนวทางและวัสดุที่ใช้ในการลดเสียงที่สอดคล้องกับข้อมูลระดับเสียง และแหล่งกำเนิดเสียง โดยอาจใช้เทคนิคการสร้างแบบจำลองทางเสียง เมื่อพบปัญหาที่มีความซับซ้อน และมีค่าใช้จ่ายในการปรับปรุงสูง ต้องการความแน่นอนในการตัดสินใจ ก่อนจะทำการประเมินผลโครงการลดเสียงเป็นขั้นตอนสุดท้าย ซึ่งขั้นตอนตามกระบวนการนี้เป็นมาตรฐานขั้นตอนในการควบคุมเสียงของ NTi ซึ่งผู้ประกอบการสามารถมั่นใจได้ว่าทุกกระบวนการและทุกขั้นตอนของการทำงานถูกออกแบบโดยผู้เชี่ยวชาญ และมีประสบการณ์การทำงานด้านการควบคุมเสียงมาอย่างยาวนาน สามารถแก้ไขปัญหาเสียงดังในโรงงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตรงตามหลักวิศวกรรม และมีมาตรฐานตรงตามหลักสากล