ความรู้ >> หูตึง เกิดจากเสียงลักษณะใดบ้าง
KNOWLEDGE
ความรู้

ในปัจจุบันโรงงานอุตสาหกรรมหลายแห่งในประเทศไทยกำลังประสบกับปัญหาเสียงดังเกินค่าระดับมาตรฐาน โดยผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเสียงดังที่เกิดขึ้นนั้นคือ “พนักงาน” ซึ่งเป็นบุคลากรที่สำคัญ ในการขับเคลื่อนกระบวนการผลิตต่าง ๆ ของโรงงานให้ดำเนินไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ การให้ความสำคัญกับปัญหาเสียงดังหรือเสียงรบกวนที่เกิดขึ้นในโรงงาน จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องหาแนวทางในการปรับปรุงแก้ไขต่อไป

ผลกระทบจากมลพิษทางเสียงในโรงงานสามารถเกิดขึ้นได้หลายด้าน เช่น ด้านผลกระทบต่อจิตใจ ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ หงุดหงิด รำคาญ เสียสมาธิในการทำงาน รวมถึงการสื่อสารต่าง ๆ ภายในองค์กร และผลกระทบที่ร้ายแรงที่สุดจากมลพิษทางเสียง คือ ด้านผลกระทบต่อร่างกาย เช่น การอยู่ในบริเวณที่มีระดับเสียงดังมากเกินกว่าระดับค่ามาตรฐาน อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อประสาทหู และเมื่อสัมผัสเสียงดังเป็นเวลานานติดต่อกัน สามารถทำให้เกิด “โรคหูตึง” หรือโรคความบกพร่องทางการได้ยินอื่นๆได้ ซึ่งผลกระทบเหล่านี้มักจะเกิดขึ้นกับพนักงานที่ต้องปฏิบัติงานในสภาพแวดล้อมที่มีเสียงดังเกินค่ามาตรฐานเป็นระยะเวลานาน

อาการหูตึง เป็นภาวะที่ผู้ป่วยมีปัญหาทางการได้ยินที่หูข้างใดข้างหนึ่งหรือทั้ง 2 ข้าง โดยอาจเกิดขึ้นช้า ๆ หรือเกิดขึ้นอย่างฉับพลันจากหลายสาเหตุ หนึ่งในสาเหตุที่พบมากคือ การได้รับเสียงที่ดังเกินค่ามาตรฐาน ซึ่งสามารถจำแนกลักษณะของเสียงที่ทำให้เกิดภาวะ “หูตึง”  ได้เป็น 3 ลักษณะ ได้แก่

       1. เสียงปัง! แบบรวดเร็ว เสียงในลักษณะเช่นนี้ จัดอยู่ในประเภทเสียงกระแทก สามารถทำลายระบบประสาทการได้ยิน และอาจทำให้เกิดหูดับ หรือหูตึงได้ในทันที เช่น เสียงระเบิด เสียงตอกเสาเข็ม เป็นต้น

       2. เสียงที่มีความแหลมดัง ลักษณะเสียงที่แหลมดังซึ่งเกิดขึ้นในช่วงความถี่สูง มีผลกระทบต่อระบบประสาทการได้ยิน หากได้รับเสียงแหลมดังบ่อย ๆ เป็นระยะเวลานานติดต่อกัน อาจทำให้เกิดภาวะหูตึงหรือสูญเสียการได้ยินได้

       3. เสียงที่มีความดังเกินกว่า 85 dBA ขึ้นไป ระดับเสียงที่ทางกฎหมายกำหนด ตามประกาศกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เรื่อง มาตรฐานระดับเสียงที่ยอมให้ลูกจ้างได้รับเฉลี่ยตลอดระยะเวลาการทำงานในแต่ละวัน กำหนดไว้ว่า ระยะเวลาในการทำงาน 8 ชั่วโมง ระดับเสียงเฉลี่ยต้องไม่เกิน 85 dBA  หากมีการสัมผัสเสียงดังเกินกว่า 85 dBA ขึ้นไป ติดต่อกันเป็นระยะเวลานานอาจทำให้หูตึง หรือสูญเสียการได้ยินได้

จากข้อมูลเรื่องลักษณะของเสียงในแต่ละประเภท สามารถจำแนกเสียงที่ก่อให้เกิดอาการหูตึงหรือโรคความบกพร่องทางการได้ยินได้ 3 ลักษณะ ได้แก่ เสียงกระแทก เสียงที่มีความแหลมดัง และ เสียงที่มีความดังเกินกว่า 85 dBA ขึ้นไป และเพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาหูตึงหรือความบกพร่องทางการได้ยินอื่น ๆ เกี่ยวกับเสียงดังเกินระดับค่ามาตรฐานดังกล่าว การทำโครงการควบคุม และลดเสียงในสถานประกอบการหรือโรงงานจึงเป็นสิ่งที่สำคัญต่อสุขภาพของพนักงาน ซึ่งผู้ประกอบการควรให้ความสำคัญเป็นลำดับต้นๆ โดยควรใช้บริการควบคุมเสียงดังจากผู้ให้บริการที่มีมาตรฐานขั้นตอนการทำงาน และมีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน เพื่อให้มาตรการลดเสียงดังเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และคุ้มค่าต่องบประมาณสูงสุด

 

สงวนลิขสิทธิ์ 2565 โดย บริษัท นิวเทค อินซูเลชั่น จำกัด