กรณีศึกษา >> เสียงรบกวนของพัดลมเติมอากาศ
Case Study
กรณีศึกษา

กรณีศึกษาจากเสียงรบกวนของพัดลมเติมอากาศ

"การจัดการเสียงรบกวนจากการทำงานของพัดลมเติมอากาศ ตามคำแนะนำที่โรงงานได้หารือกับผู้เชี่ยวชาญ โดยการย้ายที่ตั้งพัดลมเติมอากาศและจัดการความร้อนภายในห้องกันเสียง การแก้ไขปัญหาอย่างจริงจังทำให้ข้อร้องเรียนเรื่องเสียงรบกวนยุติลงได้ สามารถอยู่ร่วมกับชุมชนโดยรอบและมีความสัมพันธ์ที่ดีกับชุมชน"

บ้านหลังหนึ่งเป็นบ้านหลังสุดท้ายในซอยของหมู่บ้าน ผู้พักอาศัยในบ้านหลังนี้ได้รับผลกระทบเดือดร้อนรำคาญจากเสียงการทำงานของพัดลมเติมอากาศ (root blowers) เป็นเสียงที่ดังมาจากโรงงานผลิตกระดาษที่ตั้งอยู่ด้านหลังหมู่บ้าน โดยมีระยะห่างจากตัวบ้านและโรงงานแห่งนี้ประมาณ 30 เมตร ในโรงงานมีการใช้งานพัดลมเติมอากาศ (root blowers) เพื่อเพิ่มปริมาณอากาศในกระบวนการผลิตจำนวนสองตัว เป็นรุ่นใบพัดแบบโรเตอร์หมุนด้วยความเร็วสูง และถูกติดตั้งข้างผนังอาคารโรงงาน จึงทำให้เกิดเสียงรบกวนของพัดลมเติมอากาศที่ดังมาก เนื่องจากการสะท้อนของเสียงกับผนังและเสียงของตัวพัดลมเอง (Reverberation and Direct Sound) ทำให้กลายเป็นเสียงดังรำคาญกระทบกับผู้ที่อยู่ใกล้เคียง โดยเสียงที่ดังจากพัดลมเติมอากาศ (root blowers) ส่วนหนึ่งมีสาเหตุจากการหมุนของใบพัดด้วยความเร็วสูง รวมถึงการปะทะและการไหลของอากาศ ซึ่งเป็นเสียงที่มีความถี่กลางถึงต่ำ (low frequency noise) สามารถทะลุผ่านกำแพงและเดินทางได้ไกล เสียงจากการใช้งานพัดลมเติมอากาศ (root blowers) จะดังช่วงเวลาตั้งแต่ 09:00-23:00 น. ในเวลาวันจันทร์ถึงวันเสาร์ ทำให้ผู้ที่อยู่อาศัยในหมู่บ้านหลังที่ใกล้กับโรงงานผลิตกระดาษมากที่สุดได้รับความเดือดร้อนรำคาญ เนื่องจากไม่สามารถนอนหลับและใช้ชีวิตได้ตามปกติ ในที่สุดทางผู้ได้รับผลกระทบได้ร้องเรียนไปยังหน่วยงานที่มีหน้าที่กำกับดูแลเรื่องมลพิษทางเสียงจากอุตสาหกรรมโดยทำตามขั้นตอนดังนี้:

1. หาข้อมูลหน่วยงานที่รับผิดชอบ: ค้นหาหน่วยงานที่มีหน้าที่กำกับดูแลมลพิษทางเสียง เช่น หน่วยงานปกครองส่วนท้องถิ่น สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด สำนักงานสิ่งแวดล้อมและควบคุมมลพิษ สำนักอนามัยสิ่งแวดล้อม หรือ ศูนย์ดำรงธรรม เป็นต้น

2. เตรียมเอกสารและหลักฐาน: รวบรวมข้อมูลที่จำเป็นสำหรับการร้องเรียน
- ชื่อและที่อยู่ของโรงงานที่เป็นแหล่งกำเนิดเสียง
- รายละเอียดเกี่ยวกับปัญหาที่เกิดขึ้น เช่น ช่วงเวลาที่เกิดการรบกวน ระดับเสียง ลักษณะเสียง
- ผลกระทบที่เกิดขึ้น เช่น การละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐาน การขาดสมาธิในการทำงาน การนอนไม่หลับ
- ภาพถ่ายหรือวิดีโอที่แสดงถึงปัญหา
- ผลการวัดระดับเสียง (ถ้ามี)

3. เขียนคำร้องเรียน: จัดทำคำร้องเรียนที่ชัดเจนและกระชับ โดยระบุข้อมูลดังนี้
- ชื่อและที่อยู่ของผู้ร้องเรียน
- รายละเอียดของปัญหาที่เกิดขึ้น
- ผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อชุมชน
- ความต้องการหรือข้อเรียกร้องที่ต้องการให้หน่วยงานดำเนินการ

4. ส่งคำร้องเรียน: นำคำร้องเรียนไปยื่นต่อหน่วยงานที่รับผิดชอบ โดยสามารถยื่นผ่านช่องทางต่างๆ
- ยื่นด้วยตนเองที่หน่วยงาน
- ส่งผ่านระบบออนไลน์ (ถ้ามี)

5. ติดตามผล: หลังจากยื่นคำร้องเรียนแล้ว ควรติดตามผลการดำเนินการของหน่วยงานเป็นระยะ เพื่อให้แน่ใจว่าปัญหาที่ร้องเรียนได้รับการแก้ไข

การร้องเรียนโรงงานเรื่องเสียงรบกวน หน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบจะรับเรื่องร้องเรียนจากชุมชนหรือบุคคลที่ได้รับผลกระทบ เจ้าหน้าที่จะทำการตรวจสอบประเมินผลกระทบของเสียงต่อชุมชนและเปรียบเทียบกับมาตรฐานที่กำหนดไว้หากพบว่าเสียงที่เกิดขึ้นเกินค่ามาตรฐาน จะต้องมีการดำเนินการแก้ไข โดยหน่วยงานที่รับผิดชอบจะออกคำสั่งให้โรงงานดำเนินการแก้ไขปัญหา หากโรงงานไม่ปฏิบัติตามคำสั่ง อาจมีการดำเนินการทางกฎหมายเพิ่มเติม เช่น การปรับหรือการสั่งปิดปรับปรุงแหล่งกำเนิดเสียงจนกว่าจะได้รับการแก้ไขแล้วเสร็จ

หลังจากได้รับการร้องเรียน เจ้าหน้าที่อุตสาหกรรมจังหวัดได้เข้ามาพูดคุยกับทางเจ้าของโรงงานผลิตกระดาษให้หามาตรการในการปรับปรุง เนื่องจากค่าระดับการรบกวนสูงเกินกว่า 10 dBA ในขั้นแรกทางโรงงานได้มีการสร้างห้องกันเสียงขึ้นมา เพื่อปิดคลุมพัดลมเติมอากาศทั้งสองตัว แต่เนื่องจากเป็นการดำเนินการปรับปรุงโดยไม่ได้คำนึงถึงมาตรการด้านวิศวกรรมที่เหมาะสมทำให้ภายหลังเกิดปัญหาตามมาคือการสะสมความร้อนภายในห้องที่มีพัดลมเติมอากาศ ส่งผลต่อประสิทธิภาพการทำงานและอุปกรณ์ที่ไม่สามารถทำงานได้ โรงงานจึงมีความจำเป็นต้องเปิดประตูห้องไว้ในขณะที่มีการใช้งานพัดลมเติมอากาศ ส่งผลให้ปัญหาเสียงรบกวนของพัดลมเติมอากาศเกิดขึ้นอีกครั้ง ทางเจ้าหน้าที่อุตสาหกรรมจังหวัดจึงได้เข้ามาให้คำแนะนำและขอความร่วมมือจากทางโรงงานอีกครั้ง โดยในครั้งนี้ทางโรงงานได้หารือกับผู้เชี่ยวชาญด้านการควบคุมเสียงอุตสาหกรรมของ NTI การที่โรงงานได้หารือกับผู้เชี่ยวชาญ และนำคำแนะนำมาปฏิบัติโดยการย้ายที่ตั้งของพัดลมเติมอากาศ และสร้างห้องกันเสียงที่มีระบบจัดการความร้อนนั้น ถือเป็นวิธีการที่ดีและมีประสิทธิภาพในการแก้ปัญหาเสียงรบกวนจากพัดลมได้อย่างยั่งยืน ซึ่งข้อดีของการทำตามคำแนะนำของผู้เชี่ยวชาญด้านการควบคุมเสียง มีดังนี้

1. การย้ายที่ตั้งพัดลมเติมอากาศ จากด้านข้างโรงงานไปอยู่หลังโรงงาน ช่วยให้สามารถกำหนดตำแหน่งที่เหมาะสมและห่างไกลจากบริเวณที่มีผู้คนอยู่อาศัย ซึ่งจะลดปัญหาเสียงรบกวนได้มาก

2. การมีระบบจัดการความร้อนภายในห้องกันเสียง จะช่วยแก้ปัญหาเรื่องความร้อนสะสม จะส่งผลดีต่ออายุการใช้งานของพัดลมและอุปกรณ์อื่นๆ

3. แสดงให้เห็นถึงความตั้งใจจริงและการให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาของโรงงาน โดยการลงทุนปรับปรุงอย่างจริงจังเพื่อแก้ปัญหาได้ตรงจุดทำให้ข้อร้องเรียนเรื่องเสียงรบกวนยุติลงได้ สามารถอยู่ร่วมกับชุมชนโดยรอบและสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับชุมชน

การแก้ไขปัญหาอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ โดยการปรึกษาผู้เชี่ยวชาญและดำเนินการอย่างจริงจังนี้ ถือเป็นกุญแจสำคัญที่ทำให้โรงงานสามารถบริหารจัดการปัญหาเรื่องเสียงรบกวนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำได้จริง และไม่กระทบต่อกระบวนการดำเนินงานของโรงงานหรือแหล่งกำเนิดเสียงอีกด้วย