กรณีศึกษาเสียงรบกวนจากระบบจอดรถอัตโนมัติ
"คอนโดประสบปัญหาเสียงดังรบกวนจากมอเตอร์ของระบบจอดรถอัตโนมัติ จนทำให้ผู้อยู่อาศัยเกิดความรำคาญ การแก้ปัญหาที่ตรงจุดคือการแยกความถี่เสียงรบกวนในพื้นที่ผู้ได้รับผลกระทบ ทำให้ทราบถึงวิธีการแก้ปัญหา โดยการปิดคลุมมอเตอร์ด้วยวัสดุกันเสียงแบบมีช่องระบายความร้อน สร้างความพึงพอใจต่อผู้อยู่อาศัยในคอนโดได้สำเร็จ"
คอนโดมิเนียมแห่งหนึ่งใช้ที่จอดรถเป็นแบบระบบจอดรถอัตโนมัติ ส่งผลกระทบให้เกิดปัญหาเสียงรบกวนต่อผู้อยู่อาศัยบางส่วน โดยผู้ได้รับผลกระทบส่วนใหญ่ห้องพักจะอยู่ใกล้กับช่องลิฟท์ยกรถและระบบจอดรถอัตโนมัติจะถูกใช้งานตลอดเวลา 24 ชั่วโมง เสียงที่ได้รับการยืนยันว่ารบกวนมากคือเสียงหวีดแหลมจากมอเตอร์ที่เป็นต้นกำลังของลิฟท์ทั้งสองตัว ทำให้ผู้ได้รับเสียงที่มีปัญหาเรื่องการนอนหลับยากหรือมีประสาทหูที่ไวต่อการได้ยิน ไม่สามารถนอนหลับได้ตามปกติ และไม่ว่าค่าระดับการรบกวนจะเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดหรือไม่ก็ตาม แต่ก็ถือเป็นเหตุรำคาญทางเสียง (Noise Annoyance) เป็นภาวะที่เสียงไม่พึงประสงค์ที่รบกวนความสงบและความเป็นอยู่ของผู้คน ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตและสุขภาพจิตของผู้อยู่อาศัย ในประเทศไทยมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้โดยตรง คือ พระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535 และพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535
NTI เป็นผู้ให้บริการด้านการควบคุมมลพิษทางเสียง ได้รับการติดต่อจากผู้ติดตั้งระบบจอดรถอัตโนมัติ ให้เข้าตรวจสอบปัญหาที่เกิดของคอนโดแห่งนี้ เมื่อลงพื้นที่หน้างาน NTI ได้ทำการเก็บข้อมูลเสียงพบว่าขณะที่ลิฟท์ไม่มีการใช้งานระดับเสียงของมอเตอร์วัดได้ 50 dBA และเมื่อระบบลิฟท์มีการใช้งานเพียงชุดเดียว ทำการวัดระดับเสียงได้ 82 dBA นอกจากนี้ NTI ยังพบว่าเกิดเสียงสะท้อนในบริเวณช่องลิฟท์เมื่อมอเตอร์ทำงานอีกด้วย
ข้อดีของการเก็บข้อมูลเสียงรบกวน
1. การวิเคราะห์ปัญหาอย่างมีประสิทธิภาพ
- การระบุแหล่งกำเนิดเสียง: การเก็บข้อมูลช่วยระบุแหล่งกำเนิดเสียงที่แท้จริงตรงจุดและช่วงเวลาที่เสียงรบกวนเกิดขึ้นมากที่สุด
- การประเมินระดับเสียง: การวัดระดับเสียงช่วยให้ทราบถึงความถี่ของเสียงรบกวนในบริเวณต่างๆ ซึ่งเป็นข้อมูลสำคัญในการวางแผนการแก้ไข
2. การวางแผนและการดำเนินการ
- การเลือกมาตรการลดเสียงที่เหมาะสม: ข้อมูลที่ได้จากการวัดเสียงจะช่วยในการเลือกมาตรการลดเสียงที่เหมาะสมและสามารถลดเสียงได้จริง
- การจัดลำดับความสำคัญ: ข้อมูลช่วยให้สามารถจัดลำดับความสำคัญของพื้นที่ที่ต้องการการแก้ไขเป็นอันดับแรก และประหยัดทรัพยากรในการดำเนินการ
3. การประเมินผล
การตรวจสอบผลลัพธ์ โดยการเก็บข้อมูลหลังจากดำเนินการแก้ไขสามารถตรวจสอบผลลัพธ์ได้ว่ามาตรการที่นำมาใช้นั้นมีประสิทธิภาพเพียงใด
จากการนำข้อมูลที่เก็บได้มาวิเคราะห์ NTI ได้แนวทางการลดเสียงที่มีประสิทธิภาพมากกว่าสองแนวทางแต่การแก้ปัญหาที่สามารถทำได้ทันทีและมีค่าใช้จ่ายไม่สูงมากนัก คือการปิดคลุมมอเตอร์ด้วยวัสดุกันเสียง โดยต้องออกแบบระบบกันเสียงให้มีช่องระบายความร้อนแบบ (natural air force) หลังการติดตั้งแล้วเสร็จพบว่าประสิทธิภาพที่ได้สามารถลดระดับเสียงได้ถึง 16 dBA เป็นการลดลงที่หูมนุษย์รู้สึกได้อย่างชัดเจน ข้อดีของการแก้ปัญหาโดยวิธีนี้คือ เป็นแก้ปัญหาที่ต้นเหตุโดยตรง ไม่รบกวนการทำงานของระบบลิฟท์ และเป็นการลดเสียงโดยยังคงการระบายความร้อนได้ ซึ่งส่งผลต่อประสิทธิภาพการทำงานและอายุการใช้งานของมอเตอร์ นี่เป็นตัวอย่างของการแก้ปัญหาด้วยวิธีทางวิศวกรรมที่คำนึงถึงทั้งประสิทธิภาพและสามารถทำได้จริง ช่วยลดผลกระทบทางเสียงและสร้างความพึงพอใจต่อผู้อาศัยในอาคารได้สำเร็จ