เกี่ยวกับเสียง >> แนวทางทั่วไปที่ใช้ในการลดเสียง
About noise
เกี่ยวกับเสียง

แนวทางทั่วไปที่ใช้ในการลดเสียง

การลดเสียงหรือการควบคุมเสียงรบกวนสามารถกระทำได้ที่แหล่งกำเนิดเสียงหรือที่ทางผ่านเสียง หากทำที่แหล่งกำเนิดเสียงแล้วได้ผลเป็นที่น่าพอใจก็ไม่จำเป็นต้องทำที่ทางผ่านเสียง แต่ในบางกรณีก็มีความเป็นไปได้ที่ต้องทำทั้งแหล่งกำเนิดเสียงและทางผ่านเสียงพร้อมกัน ตัวอย่างแนวทางการลดเสียงที่ใช้กันทั่วไปได้แก่

การวางแผนพื้นที่ใช้สอย (Space Planning)

ในกรณีที่มีการใช้สอยอาคารที่อาจจะต้องเจอกับปัญหาเสียงรบกวน ควรหลีกเลี่ยงการวางผังของพื้นที่ที่ต้องการความเงียบสงบ เช่น ห้องประชุม ห้องทำงาน ห้องผู้บริหาร ให้อยู่ใกล้หรือติดกับแหล่งกำเนิดเสียง เช่น ห้องหม้อแปลงไฟฟ้า ห้องระบบทำความเย็น ห้องควบคุมลิฟท์ ห้องเครื่องกำเนิดไฟฟ้า หรือติดกับถนนที่มีรถหนาแน่น

ตู้ครอบลดเสียง (Enclosures)

จัดเป็นอุปกรณ์สำหรับการลดเสียงที่ทางผ่านเสียง (path) ตู้ครอบลดเสียงที่มีประสิทธิภาพสูงสุดสามารถลดเสียงได้สูงถึง 70 dBA (full encloser ครอบแบบ 6 ด้าน) สิ่งที่ต้องคำนึงและพึงระวังในการออกแบบตู้ครอบคือเรื่องการระบายความร้อน (heat management) สำหรับแหล่งกำเนิดเสียงที่มีความร้อนสะสมขณะมีการใช้งาน

วัสดุกันเสียง (Barriers)

วัสดุกันเสียงหรือบาริเออร์อาจจะอยู่ในรูปของ ผนังกันเสียง กำแพงกันเสียง แผ่นกันเสียง ที่ไม่ได้ปิดคลุมแหล่งกำเนิดเสียงมิดชิดทุกด้านหรือตู้ครอบลดเสียง จึงเป็นข้อจำกัดของบาริเออร์ที่สามารถลดเสียงได้มากสุดราว 15 dBA ต่อให้วัสดุของบาริเออร์นั้นจะมีประสิทธิภาพการลดเสียง (IL: Insertion Loss) ในห้องทดสอบได้มากกว่านี้ก็ตาม

อุปกรณ์เก็บเสียง (Mufflers)

มัฟเลอร์เป็นอุปกรณ์เก็บเสียงที่ใช้ต่อระหว่างท่อส่งอากาศที่มีเสียงรบกวนภายในท่อ ประสิทธิภาพการลดเสียงของมัฟเลอร์จะใช้ค่า IL: Insertion Loss เป็นเรทติ้งคล้ายกับบาริเออร์ แต่การออกแบบมัฟเลอร์จะต้องคำนึงถึง ช่วงความถี่ของเสียงรบกวน (dominant frequency) และค่าแรงดันตก (static pressure drop) ที่จะเกิดขึ้นภายในท่อด้วย

 

วัสดุดูดกลืนเสียง (Absorptive Materials)

วัสดุดูดกลืนเสียงหรือที่นิยมเรียกว่า “วัสดุดูดซับเสียง” หรือ “แผ่นซับเสียง” สามารถนำมาใช้ลดระดับความดันเสียงจากปัญหาเสียงสะท้อนภายในอาคารได้สูงสุดถึง 10 dBA แต่ต้องเข้าใจว่าวัสดุดูดกลืนเสียงจะลดแค่ระดับเสียงสะท้อนที่เกิดขึ้นเท่านั้น ไม่ได้ช่วยลดระดับเสียงของแหล่งกำเนิด การเลือกใช้ให้ได้ผลจึงต้องทราบลักษณะของเสียงที่เกิดขึ้นภายในห้อง

แยกความสั่นสะเทือน (Vibration Isolation)

อุปกรณ์ที่มีการเคลื่อนไหวทางกลสามารถส่งผ่านความสั่นสะเทือนไปตามโครงสร้างอาคารได้ การป้องกันที่ดีคือการมิให้อุปกรณ์เหล่านี้สัมผัสกับตัวอาคารโดยตรง ซึ่งวิธีการที่นิยมใช้กันคือการติดตั้งอุปกรณ์แยกความสั่นสะเทือน (vibration isolators) ที่อยู่ในรูปของสปริง บล็อกเฉื่อย แผ่นยาง เป็นต้น ซึ่งการเลือกอุปกรณ์เหล่านี้จะต้องระวังเรื่องการสั่นพ้องกับความถี่ธรรมชาติของเครื่องจักรด้วย

แอ็กทีฟนอยซ์คอนโทรล (Active Noise Control)

ที่กล่าวมาเบื้องต้นล้วนเป็นการควบคุมเสียงแบบ passive control แต่สำหรับ active noise control คือการควบคุมเสียงด้วยการใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ประกอบด้วย ไมโครโฟนที่ทำหน้ารับคลื่นเสียงรบกวน โปรเซสเซอร์ทำหน้าที่สร้างคลื่นเสียงในลักษณะกลับเฟสของเสียงรบกวน (mirror phase) และลำโพงทำหน้าที่ปล่อยคลื่นเสียงที่มีเฟสตรงข้ามกับเสียงรบกวนออกมา ทำให้คลื่นหักล้างกันจนระดับเสียงเบาลง ซึ่งสามารถทำให้เสียงเบาลงได้สูงสุดถึง 40 dBA ในเงื่อนไขที่เหมาะสม (ตำรา Springer Handbook of Acoustics, 2007)