ปัญหา
ผู้ได้รับผลกระทบเป็นพนักงานออฟฟิศแผนกหนึ่งที่นั่งอยู่ในห้องสำนักงานซึ่งอยู่ในพื้นที่การผลิต ได้รับความรำคาญจากการทำงานของแอร์ฮีทเตอร์ซึ่งเป็นอุปกรณ์หนึ่งของระบบการผลิตและลำเลียงวัตถุดิบเพื่อการผลิตสินค้า โดยถูกติดตั้งอยู่ห่างจากห้องสำนักงานประมาณ 6 เมตร เสียงรบกวนที่ว่าเป็นเสียงดังแบบไม่ต่อเนื่องซึ่งจะเกิดขึ้นเป็นระยะเมื่อแอร์ฮีทเตอร์ทำงาน แต่เกิดขึ้นหลายครั้งตลอดทั้งวัน ส่งผลให้พนักงานขาดสมาธิในการทำงาน ต้องใช้เสียงดังในการสนทนากัน และต้องตะเบ็งเสียงเมื่อมีการใช้โทรศัพท์ภายในห้องสำนักงาน ทำให้มีอาการเจ็บคอ หูอื้อ มีความอึดอัด และเกิดภาวะเครียดได้ง่ายกว่าปกติ ทางผู้ว่าจ้างต้องการให้ทำการลดเสียงที่แหล่งกำเนิดและไม่ต้องการให้มีการดัดแปลงใดๆภายในพื้นที่สำนักงาน ฝ่ายวิศวกรรมงานเสียงจึงได้นำข้อมูลเสียงมาวิเคราะห์แล้วพบว่า ปัญหาเสียงรบกวนนี้สามารถควบคุมได้โดยการติดตั้ง “acoustic jackets” หรือแจ็คเก็ตลดเสียงแบบถอดได้ให้กับแอร์ฮีทเตอร์
สาเหตุ
แอร์ฮีทเตอร์ที่อยู่ใกล้กับห้องสำนักงาน ส่งเสียงดังรบกวนทะลุเข้ามาภายในห้อง (single-source issue)
วิธีการปรับปรุง
เมื่อทาง NTi ได้รับการติดต่อให้เข้าไปแก้ปัญหาในพื้นที่ดังกล่าว พบว่าแอร์ฮีทเตอร์จะทำงานโดยการให้ลมร้อนเพื่อไล่ความชื้นแก่วัตถุดิบ ทำให้เกิดเสียงดังตามรายละเอียดในตารางด้านล่างนี้
ระดับเสียงก่อนปรับปรุง | วัดที่แหล่งกำเนิดเสียง | วัดในสำนักงาน |
แอร์ฮีทเตอร์ทำงาน (dBA) | 97.0 | 73.5 |
แอร์ฮีทเตอร์ไม่ทำงาน (dBA) | 77.4 | 58.1 |
ระดับเสียงเพิ่มขึ้น (dBA) | 19.6 | 15.4 |
หลังจากติดตั้งแล้วเสร็จ ทำการวัดเสียงอีกครั้งพบว่าระดับเสียงเป็นไปดังตารางต่อไปนี้
ระดับเสียงแอร์ฮีทเตอร์ | วัดที่แหล่งกำเนิดเสียง | วัดในสำนักงาน |
ไม่มี acoustic jackets (dBA) | 97.0 | 73.5 |
มี acoustic jackets (dBA) | 83.7 | 62.1 |
ระดับเสียงลดลง (dBA) | 13.3 | 11.4 |
ผลการปรับปรุง
หลังจากที่ทำการลดเสียงแอร์ฮีทเตอร์โดยการติดตั้ง “acoustic jackets” พบว่าระดับเสียงที่แหล่งกำเนิดลดลงไป 13.3 dBA และระดับเสียงรบกวนภายในห้องสำนักงานลดลงไป 11.4 dBA หรือระดับเสียงในห้องสำนักงานขณะที่แอร์ฮีทเตอร์ทำงานเพิ่มขึ้นมาเพียง 4.0 dBA (เมื่อเทียบกับเสียงขณะที่แอร์ฮีทเตอร์ไม่ทำงาน) การปรับปรุงดังกล่าวส่งผลให้พนักงานในห้องสำนักงานใช้ชีวิตได้ตามปกติ ไม่ต้องตะโกนหรือใช้เสียงดังในการทำงานอีกต่อไป