ความรู้ >> แนวทางแก้ปัญหาเสียงดังจากเครื่องปั๊มโลหะ
KNOWLEDGE
ความรู้

แนวทางแก้ปัญหาเสียงดังจากเครื่องปั๊มโลหะ

“แนวทางแก้ปัญหาเสียงดังจากเครื่องปั๊มโลหะ จากกรณีที่ผู้ประกอบการโรงงานอุตสาหกรรม โดยเฉพาะหน่วยงานด้านความปลอดภัย (เซฟตี้) ในโรงงาน ได้มีการแก้ปัญหาเรื่องเสียงดังจากเครื่องปั๊มโลหะแล้ว พบว่าเสียงไม่ลงตามเกณฑ์ที่กำหนด มีคำถามว่า ทำไมปรับปรุงแล้วเสียงไม่ลดลงตามที่ต้องการ ทาง NTi จึงขอยกตัวอย่าง แนวทางการลดเสียงของเครื่องปั๊มโลหะเพื่อให้เข้าใจและเห็นภาพชัดเจนมากยิ่งขึ้น โดยแนวทางการลดเสียงเครื่องปั๊มโลหะจะมี 6 ขั้นตอนสำคัญ ดังเนื้อหาในบทความ”

กรณีการแก้ปัญหาเสียงดังจากเครื่องปั๊มโลหะ หากเราใช้วัสดุในการแก้ปัญหาผิดประเภท หรือไม่มีความรู้ในวัสดุนั้น ๆ เช่น ใช้ฟองน้ำรังไข่ทั่วไปที่ไม่มีคุณสมบัติการซับเสียงที่ตรงกับความถี่เสียงขณะที่เครื่องทำงาน การแก้ปัญหาเสียงด้วยวิธีนี้อาจทำให้เสียงลดลงไปเพียงแค่ 1.0 - 1.5 dBA เท่านั้นเอง

ลักษณะการทำงานของเครื่องปั๊มโลหะหลายรุ่นถูกออกแบบให้เป็นกึ่งอัตโนมัติ โดยจะต้องมีพนักงานคอยกดปุ่มเพื่อควบคุมเครื่องอยู่ตลอดเวลา ลักษณะเสียงของเครื่องปั๊มโลหะจะเป็นลักษณะเสียงกระแทกเป็นจังหวะ ซึ่งเราต้องเอาทั้งค่า Leq , Lmax และ Lpeak ขณะที่เครื่องทำงานหรือที่พนักงานได้รับสัมผัสมาใช้ในการออกแบบแนวทางการลดเสียงด้วย (ไม่แนะนำให้ใช้ค่าเสียงเฉลี่ยแต่เพียงอย่างเดียว)

แนวทางการลดเสียงเครื่องปั๊มโลหะจะมี 6 ขั้นตอนสำคัญ ดังนี้

1. ทราบค่าระดับความดันเสียงเฉลี่ย เสียงสูงสุด เสียงกระแทก

2. ทราบค่าการรับสัมผัสของพนักงานที่ใช้เครื่องปั๊มโลหะ เช่น TWA8

3. แยกความถี่เสียงเพื่อใช้ในการคำนวณค่าการลดทอนเสียง (Transmission Loss) รวมไปถึงค่า SAC (Sound Absorption Coefficient) หรือ ค่าสัมประสิทธิ์การดูดกลืนเสียงของวัสดุที่จะนำมาใช้

4. นำวิธีการแก้ไข (Treatment) มาทำตัวแบบจำลอง (Simulation) เพื่อให้ซอฟต์แวร์คำนวณว่าถ้าเราทำตู้ครอบ หรือผนังกันเสียงจะลดเสียงลงไปได้กี่เดซิเบลเอ และสุดท้ายแล้วระดับเสียงลดลงตามที่กฎหมายกำหนดหรือไม่

5. ลงมือติดตั้งตู้ครอบหรือผนังกันเสียงตามที่เราได้เลือกแนวทางไว้ และวัดเสียงหลังจากติดตั้ง

6. กรณีที่เราไม่สามารถทำการควบคุมเสียงที่แหล่งกำเนิดหรือที่ทางผ่านเสียงอย่างที่กล่าวมาได้ ก็ให้เราเปลี่ยนไปทำ Job Rotation (หมุนเวียนงานแก่พนักงาน เพื่อลดระยะเวลาการสัมผัสเสียง) หรือทำ Boot พักเสียงให้กับพนักงานที่ทำงานกับเครื่องปั๊มโลหะ จะช่วยในเรื่องการรับสัมผัสที่ไม่เกินเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด