ความรู้ >> ห้องกันเสียงเครื่องจักร...รวมปัญหาจากหน้างานจริง
KNOWLEDGE
ความรู้

ห้องกันเสียงเครื่องจักร...รวมปัญหาจากหน้างานจริง

"ห้องกันเสียงสามารถแบ่งเป็น "ห้องกันเสียงแบบถอดได้" และ "ห้องกันเสียงทั่วไป" ปัญหาที่พบบ่อยได้แก่เสียงไม่ลงตามเกณฑ์ที่กำหนด, ความร้อนภายในห้องเพิ่มสูง, และระบบเซฟตี้หรืออุปกรณ์ต่อพ่วงทำงานไม่ปกติ ซึ่งส่งผลให้ส่งงานไม่ผ่าน การออกแบบและติดตั้งห้องกันเสียงต้องพิจารณาค่า STC ของวัสดุ, คำนวณการระบายความร้อน, และตรวจสอบระบบเซฟตี้อย่างถูกต้องเพื่อป้องกันปัญหาที่เกิดขึ้น"

ห้องกันเสียงเป็นสิ่งสำคัญในการควบคุมเสียงที่มาจากแหล่งกำเนิดต่าง ๆ เช่น เสียงจากเครื่องจักรหรืออุปกรณ์ที่มีเสียงดัง เช่น press machine, stamping machine, punching machine, และ root blowers เป็นต้น การออกแบบและติดตั้งห้องกันเสียงอย่างถูกต้องตามหลักการควบคุมเสียงทางวิศวกรรมสามารถช่วยลดระดับเสียงจากแหล่งกำเนิดได้ประมาณ 10-30 dBA การออกแบบห้องกันเสียงมีทั้งแบบสร้างในที่หรือพื้นที่เดิมที่มีผนังห้องอยู่แล้ว และแบบสร้างใหม่หรือประกอบขึ้นใหม่ โดยมีทั้งห้องเป็นงานเฉพาะกิจ สามารถแยกย่อยเป็น "ห้องกันเสียงแบบถอดได้" และ "ห้องกันเสียงทั่วไป"

ความสำคัญของห้องกันเสียงสำหรับเครื่องจักรหรืออุปกรณ์ที่มีความร้อนสะสมขณะทำงานคือการคำนวณเรื่องการระบายความร้อนหรือการถ่ายเทอากาศ (air change rate) เพื่อให้ภายในห้องมีอุณหภูมิที่เหมาะสม เพื่อป้องกันความร้อนสูงเกินไปที่อาจทำให้อุปกรณ์ภายในห้องเสื่อมสภาพและเสียประสิทธิภาพการทำงาน

ด้วยความท้าทายและความสำคัญของห้องกันเสียงในการควบคุมเสียงและความร้อนสำหรับเครื่องจักรหรืออุปกรณ์ที่มีความร้อนสะสมขณะทำงาน การคำนวณและการออกแบบห้องกันเสียงเป็นสิ่งสำคัญเพื่อให้ทำงานได้อย่างเหมาะสมและปลอดภัยต่อเครื่องจักรและพนักงานที่ทำงานในห้องเสียงนั้นได้   

ปัญหาของห้องกันเสียง ที่ทาง NTi พบเจอ

1. เสียงไม่ลง หรือระดับเสียงลงไม่ได้ตามเกณฑ์ที่กำหนด

สาเหตุอาจเป็นเพราะผู้ออกแบบทำห้องกันเสียงไม่มีความรู้ความเข้าใจ ในเรื่องของค่า STC หรือว่า Sound Transmission Class ของวัสดุ อันเป็นค่า Rating ซึ่งได้มาจากการนำ Transmission Loss หรือ TLในช่วง 125 ถึง 4000 Hz มา Plot ลงในตัวกราฟที่เป็น STC เพื่อแสดงให้ทราบว่าวัสดุที่จะนำมาใช้กันเสียงนั้น มีความสามารถในการลดเสียงได้มากน้อยเพียงใด

ซึ่งสิ่งที่ผู้ออกแบบควรพิจารณา คือ ค่า STC ที่สูงจะกันเสียงได้ดีกว่าค่า STC ที่ต่ำ แต่ที่ทำห้องกันเสียงแล้วพบว่าเสียงไม่ลง มักจะมีสาเหตุจากความไม่เข้าใจเรื่องความถี่เสียงและค่าการลดทอนเสียงของวัสดุแยกตามความถี่ของผู้ออกแบบหรือสร้างห้องกันเสียง ทำให้ไม่สามารถคำนวณค่าการลดเสียงหลังติดตั้งได้ และคิดว่าวัสดุดูดกลืนเสียงทั่วไปที่มีจำหน่ายในท้องตลาดน่าจะช่วยลดเสียงได้ตามที่ต้องการ ซึ่งหากเจอแหล่งกำเนิดเสียงที่มีระดับกำลังเสียง (Sound Power Level) สูงมาก วัสดุดูดกลืนเสียงที่ใช้ก็อาจจะลดเสียงได้น้อยกว่าที่ต้องการหรือคาดหวังไว้

2. ความร้อนภายในห้องเพิ่มสูงจนน่ากังวล

เป็นอีกปัญหาของห้องกันเสียงที่มักจะทำให้ส่งงานไม่ผ่าน ปกติแล้วอุณหภูมิภายในห้องกันเสียงไม่ควรสูงเกินกว่า 10 องศาเซลเซียส เมื่อเทียบกับตอนที่ยังไม่มีห้องกันเสียง เนื่องจากอุณหภูมิภายในห้องที่สูงเกินกว่านี้อาจทำให้อุปกรณ์หรือเครื่องจักรภายในห้องต้องเสื่อมสภาพเร็วขึ้น ใช้พลังงานเพิ่มมากขึ้นในขณะที่ประสิทธิภาพการทำงานลดลง หรืออาจเป็นสาเหตุของความไม่ปลอดภัยในการทำงานต่อพนักงานที่ต้องเข้าไปทำงานในห้องกันเสียงนั้นได้ แต่ปัญหานี้สามารถป้องกันได้ตั้งแต่ขั้นตอนการออกแบบห้องกันเสียง หรือที่เราเรียกว่าการออกแบบระบบจัดการความร้อน (Heat Management System) ซึ่งจะมีทั้งการระบายความร้อนด้วยการใช้และไม่ใช้พัดลม ร่วมกับ บานเกล็ดลดเสียง (Acoustic Louvers) ก็จะช่วยให้อุณหภูมิภายในห้องกันเสียงเป็นไปตามที่เราต้องการหรือออกแบบไว้นั่นเอง

3. ระบบเซฟตี้หรืออุปกรณ์ต่อพ่วงทำงานไม่ปกติ

แม้ว่าปัญหานี้จะเกิดขึ้นได้น้อยกว่าปัญหาเรื่องเสียงไม่ลงและความร้อนสูงขึ้น แต่ก็เป็นอีกปัญหาที่ทำให้ส่งงานไม่ผ่านเช่นกัน ระบบเซฟตี้ที่ว่าได้แก่ เซ็นเซอร์การทำงานของพัดลม เซ็นเซอร์วัดอุณหภูมิภายในห้อง อุปกรณ์ตรวจจับการรั่วของสารเคมีหรือก๊าซภายในห้อง เป็นต้น ปัญหาในข้อนี้ส่วนหนึ่งมาจากอุณหภูมิในห้องกันเสียงที่สูงมากเกินไปจนทำให้ระบบตัดการทำงานหรือทำงานผิดพลาด และอีกสาเหตุหนึ่งก็เกิดขึ้นจากการทำงานที่เร่งรีบของผู้ติดตั้งจนไม่มีเวลาในการตรวจสอบหรือทดสอบระบบก่อนส่งมอบห้องกันเสียงให้กับผู้ว่าจ้างหรือผู้ใช้งาน