แนวทางแก้ปัญหาเสียงดังจากคูลลิ่งทาวเวอร์
“แนวทางแก้ปัญหาเสียงดังจากคูลลิ่งทาวเวอร์ เทคนิคที่ใช้ในการค้นหาสาเหตุของเสียงรบกวนจากคูลลิ่งทาวเวอร์ จะใช้การวิเคราะห์ความถี่เสียงและระดับความดันเสียงในแต่ละช่วงความถี่ จากนั้นจะนำข้อมูลที่ได้มาวิเคราะห์หาสัดส่วนค่าการรบกวน (Annoyance Rational Analysis) ของแต่ละองค์ประกอบจากคูลลิ่งทาวเวอร์ ด้วยซอฟท์แวร์ทางเสียง เช่น การพิสูจน์ให้ได้ว่าเป็นเสียงรบกวน หรือเหตุรำคาญทางเสียง จากเสียงลมเมื่อใบพัดทำงาน จากการกระพือของตัวผนังคูลลิ่ง จากมอเตอร์ที่ขับใบพัด หรือจากม่านน้ำ เมื่อทราบถึงจุดหลักที่ก่อให้เกิดเสียงแล้ว ก็จะได้ดำเนินการแก้ไขให้ตรงจุด”
ปัญหาเสียงคูลลิ่งทาวเวอร์หรือหอหล่อเย็น ส่วนใหญ่จะเป็นปัญหาเสียงรบกวนที่กระทบกับชุมชนนอกโรงงานหรืออาคารพักอาศัยที่อยู่ใกล้กับสถานประกอบกิจการ มีทั้ง คูลลิ่งทาวเวอร์ของโรงงานอุตสาหกรรม โรงแรม และสถานที่ราชการ ที่เปิดใช้งานแล้วถูกชาวบ้านร้องเรียน จากการแยกองค์ประกอบของเสียงด้วยการใช้ความถี่เสียง ไม่ว่าจะเป็น Octave Band หรือว่า FFT ทาง NTi จะพบว่าสาเหตุเสียงรบกวนของคูลลิ่งทาวเวอร์ส่วนใหญ่ มีดังนี้
1. เสียงจากใบพัดตัดลม (BPF: Blade Pass Frequency)
2. เสียงจากการสั่นสะเทือนของปากปล่อง หรือ Stack โดยเฉพาะวัสดุ FRP
3. เสียงจากชุดต้นกำลัง เช่น มอเตอร์ เพลาขับ อินเวอร์เตอร์
4. เสียงสะท้อนกรณีวางใกล้กับอาคารหรือผนังที่มีวัสดุผิวเรียบมัน
5. เสียงจากม่านน้ำ
ซึ่งแนวทางการแก้ปัญหาเสียงจากคูลลิ่งทาวเวอร์ สามารถทำได้ดังนี้
1. พิสูจน์ให้ได้ว่าเป็นเสียงรบกวน หรือเหตุรำคาญทางเสียง หรือทั้งสองอย่าง
2. นำข้อมูลความถี่เสียง และระดับความดันเสียงในพื้นที่ผู้ได้รับผลกระทบ มาประเมินว่าต้องแก้ไขถึงขนาดไหน
3. ถ้าเสียงรบกวนหลักมาจากเสียงใบพัด ให้พิจารณาเปลี่ยนประเภทใบพัด (Performance vs Acoustic Blades)
4. หากไม่สามารถเปลี่ยนใบพัดได้ อาจจำเป็นต้องใช้ Sound Attenuator ที่ Air Discharge
5. ถ้ามาจากชุดต้นกำลังให้หาสาเหตุที่แหล่งกำเนิดเสียงก่อนที่จะทำผนังกันเสียง
6. ถ้ามาจากม่านน้ำ (เจอน้อยมาก) สามารถใช้ วัสดุ GRP เพื่อใช้ลดเสียงกระทบกันของน้ำได้
7. ผนังกันเสียงจะได้ผลดี เมื่อตำแหน่งของคูลลิ่งทาวเวอร์อยู่สูงกว่าตำแหน่งผู้รับเสียง และพบว่าเสียงรบกวนที่บ้านผู้ร้องมีปัญหาที่ความถี่สูงเป็นหลัก