ความรู้ >> แผ่นกันเสียงและแผ่นซับเสียงต่างกันอย่างไร
KNOWLEDGE
ความรู้

แผ่นกันเสียงและแผ่นซับเสียงต่างกันอย่างไร

"แผ่นกันเสียง เป็นวัสดุที่มีคุณสมบัติต้านทานการเคลื่อนผ่านของคลื่นเสียง เป็นวัสดุกันเสียงไม่ให้เสียงทะลุผ่านได้ ที่นิยมใช้กันส่วนใหญ่จะมีความหนา 3mm 5mm หรือ 10mm แผ่นซับเสียง เป็นวัสดุที่ใช้ในการดูดกลืนพลังงานเสียงเพื่อช่วยลดเสียงก้องและเสียงสะท้อน หน้าที่หลักคือเปลี่ยนพลังงานเสียงให้เป็นพลังงานความร้อน เพื่อลดความเข้มข้นของเสียงในพื้นที่นั้นหรือเสียงเบาลง"

นิยามของแผ่นกันเสียงและแผ่นซับเสียง

แผ่นกันเสียง คือ แผ่นวัสดุที่มีคุณสมบัติต้านทานการเคลื่อนผ่านของคลื่นเสียง หรือพูดให้เข้าใจง่ายว่าเป็นวัสดุกันเสียงไม่ให้เสียงทะลุผ่านได้โดยสะดวก โดยทั่วไปแล้วแผ่นกันเสียงที่นิยมใช้กันมักจะมีความหนา 3mm, 5mm หรือ10mm ก็ได้

แผ่นซับเสียง คือ วัสดุที่ใช้ในการดูดกลืนพลังงานเสียง สำหรับช่วยลดเสียงก้องและเสียงสะท้อนภายในห้องหรือพื้นที่ปิด หน้าที่หลักของแผ่นซับเสียงคือเปลี่ยนพลังงานเสียงที่มากระทบให้เป็นพลังงานความร้อน ทำให้ความเข้มเสียงในพื้นที่นั้นลดลง หรือได้ยินเสียงเบาลงนั่นเอง

พารามิเตอร์ที่ต้องพิจารณาเมื่อต้องเลือกใช้แผ่นกันเสียงและแผ่นซับเสียง

แผ่นกันเสียง พารามิเตอร์ที่ต้องพิจารณา จะเป็นเรื่องของค่า STC กับค่า STL ซึ่งทั้ง 2 ค่าจะเป็นตัวที่ระบุให้ทราบว่าแผ่นกันเสียงนั้นลดเสียงได้ดีแค่ไหน

STC: Sound Transmission Class คือ ค่าการส่งผ่านของเสียง (เรทติ้ง) หรือคลาสของวัสดุที่มีคุณสมบัติต้านทานการส่งผ่านของเสียงจากด้านหนึ่งไปยังอีกด้านหนึ่ง อาจเรียกว่าเป็นค่าที่แสดงถึงความสามารถในการบล็อคเสียงของวัสดุจากพื้นที่หนึ่งไปสู่อีกพื้นที่หนึ่ง (ค่ายิ่งมาก ยิ่งลดเสียงได้ดี)

STL: Sound Transmission Loss คือ ค่าการส่งผ่านของเสียงที่ลดลง แยกตามความถี่เสียง วัสดุที่มีค่า STL สูง จะกันเสียงได้ดีกว่าวัสดุที่มีค่า STL ต่ำ ที่สำคัญคือใช้เลือกให้เหมาะกับความถี่เสียงที่มีปัญหาในแต่ละกรณีหรือแต่ละพื้นที่ได้

แผ่นซับเสียง พารามิเตอร์ที่ต้องพิจารณา จะเป็นในเรื่องของค่า SAC และค่า NRC

SAC: Sound Absorption Coefficient หรือค่าสัมประสิทธิ์การดูดกลืนเสียง (มีค่า 0-1 ยิ่งเข้าใกล้ 1 ยิ่งดูดกลืนเสียงได้ดี) ช่วยบอกให้ทราบว่าวัสดุชนิดนั้นมีประสิทธิภาพในการดูดซับเสียงได้ดีเพียงใด (เป็นค่าที่ได้มาจากการทดสอบในห้องไร้เสียงสะท้อน)

NRC: Noise Reduction Coefficient คือ ค่าสัมประสิทธ์การลดเสียง ได้มาจากค่าเฉลี่ยของ SAC ที่ความถี่เสียง 250Hz 500Hz 1000Hz 2000Hz และ 4000Hz ยิ่งมีค่าใกล้เคียง 1.00 แสดงว่ามีคุณสมบัติลดเสียงที่ดี

ตัวอย่างของแผ่นกันเสียงและแผ่นซับเสียง มีดังนี้

แผ่นกันเสียง ได้แก่ วัสดุจำพวกไวนิล แผ่นตะกั่ว แผ่นพีวีซี แผ่นซีเมนต์บอร์ด เป็นต้น

แผ่นซับเสียง ได้แก่ วัสดุจำพวกใยแก้ว,ใยหิน,โปลีเอสเตอร์ หรือพวกเส้นใยสังเคราะห์ต่างๆ

บ่อยครั้งที่หลายคนมักเรียกผิดเพราะเข้าใจผิด เช่น อยากแก้ปัญหาเสียงก้องในห้องประชุม ซึ่งต้องใช้แผ่นซับเสียงมาลดการสะท้อนของเสียง แต่ไปบอกผู้จำหน่ายวัสดุว่าต้องการแผ่นกันเสียง เป็นต้น

สรุป ความแตกต่างของแผ่นซับเสียงและแผ่นซับเสียง แผ่นกันเสียงใช้สำหรับกันเสียงไม่ให้เสียงทะลุผ่านออกมา โดยวัสดุที่มีน้ำหนักมากกว่าจะกันเสียงได้ดีกว่าวัสดุที่มีน้ำหนักน้อย (ตามกฎของมวล) และมีพารามิเตอร์ที่ต้องพิจารณา คือ ค่า STC และ STLส่วนแผ่นซับเสียง คือ วัสดุดูดกลืนเสียงที่จะเปลี่ยนพลังงานเสียงที่เข้ามากระทบเป็นพลังงานความร้อนในเนื้อวัสดุและทำให้ระดับเสียงลดลง มีพารามิเตอร์ที่ใช้พิจารณาเลือกคือค่า SAC และค่า NRC