มารู้จักไซเลนเซอร์กัน
“ไซเลนเซอร์ (Silencer) เป็นอุปกรณ์ควบคุมเสียง ใช้ในการลดเสียงลมที่เดินทางผ่านท่อที่มี “ระดับเสียงดังเกินค่ามาตรฐาน” ของกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นระบบท่อไอเสีย ท่อลมทิ้งที่ผ่านระบบบำบัดมลพิษอากาศ หรือท่อโบล์ดาวน์แรงดันส่วนเกิน หรือท่อของปั๊มแบบต่างๆ โดยไซเลนเซอร์แบ่งออกได้ 2 ประเภท
1. Reactive Silencer คือ ไซเลนเซอร์ที่ไม่มีวัสดุดูดกลืนเสียงอยู่ข้างใน
2. Absorptive Silencer หรือ Dissipative Silencer คือ ไซเลนเซอร์ที่มีวัสดุดูดกลืนเสียงอยู่ด้านใน”
1. Reactive Silencer คือ ไซเลนเซอร์ที่ไม่มีวัสดุดูดกลืนเสียงอยู่ข้างใน หรือเรียกง่ายๆว่าไม่มีไส้ในการซับเสียง หลักการออกแบบจะผลิตให้มีท่อเล็กๆซึ่งเจาะรูขนาดต่างๆอยู่ด้านใน และคลื่นเสียงที่เดินทางผ่านท่อเล็กๆเหล่านี้จะเกิดการสะท้อนไปมา จนเกิดการหักล้างของคลื่นกันเอง (Destructive Waves) จนแอมพลิจูดเสียงต่ำลงหรือระดับความดันเสียงลดลงนั่นเอง
2. Absorptive Silencer หรือ Dissipative Silencer คือ ไซเลนเซอร์ที่มีวัสดุดูดกลืนเสียงอยู่ด้านใน หลักการจะต่างจากอันแรกคือภายในตัวไซเลนเซอร์จะมีวัสดุที่มีค่าสัมประสิทธิ์การดูดกลืนเสียง (SAC: Sound Absorption Coefficient) ที่ตรงกับความถี่รบกวนของเสียงลม บุไว้ด้านในผิว เมื่อลมเดินทางผ่านจะทำให้พลังงานเสียงลดลงหรือเสียงเบาลงนั่นเอง
ประสิทธิภาพการลดเสียงของไซเลนเซอร์ทั้ง 2 แบบ จะใช้ค่าการลดทอนเสียง หรือ Insertion Loss (IL) เป็นตัวประเมินว่าจะลดเสียงได้มากน้อยเพียงใด โดยค่า IL ยิ่งมาก แสดงว่าไซเลนเซอร์นั้นจะลดเสียงได้มากกว่าไซเลนเซอร์ที่มีค่า IL น้อยกว่า