ความรู้ >> วิธีการวัดเสียงรบกวนจากสนามยิงปืน
KNOWLEDGE
ความรู้

วิธีการวัดเสียงรบกวนจากสนามยิงปืน

"การวัดเสียงรบกวนจากสนามยิงปืนต้องเป็นตามประกาศคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ฉบับที่ 29 (พ.ศ.2550) เรื่องค่าระดับเสียงรบกวนและคณะกรรมการควบคุมมลพิษ เรื่อง วิธีการตรวจวัดระดับเสียง ขั้นตอนการวัดเสียงรบกวนจากสนามยิงปืนรวมถึงการตั้งเครื่องวัดเสียงในพื้นที่ของผู้ได้รับผลกระทบ คือ วัดระดับเสียงพื้นฐานและระดับเสียงขณะไม่มีการยิงปืน วัดระดับเสียงขณะมีการยิงปืน คำนวณระดับเสียงเฉลี่ยขณะยิงปืน และปรับค่าระดับเสียงขณะมีการรบกวน ในกรณีที่เสียงปืนมีลักษณะของเสียงกระแทกและเสียงแหลมดัง จะต้องเพิ่มระดับเสียงอีก 5 dBA เพื่อความสมบูรณ์ก่อนที่จะนำค่าที่ได้ไปลบกับระดับเสียงพื้นฐาน (L90) ตามข้อบังคับ"

ปัญหาเสียงดังที่เกิดจากสนามยิงปืนเป็นหนึ่งในปัญหาที่มักถูกร้องเรียนจากผู้อยู่อาศัยที่อาศัยในอาคารหรือชุมชนที่ตั้งอยู่ใกล้เคียงกับสนามยิงปืน เสียงที่เกิดขึ้นขณะมีการซ้อมยิงปืนมักเข้ามากังวลและรบกวนชีวิตประจำวันของพวกเขา ทำให้เกิดความรำคาญทางเสียงและมีผลกระทบต่อคุณภาพชีวิต ปัญหานี้ส่งผลให้เกิดการร้องเรียนต่อสนามยิงปืน เพื่อให้มีการแก้ไขที่เหมาะสม การแก้ปัญหานี้ต้องเริ่มต้นด้วยการวัดเสียงอย่างถูกต้องเพื่อเข้าใจประเด็นตรงจุดและได้รับข้อมูลที่เป็นความจริง การตรวจสอบเสียงที่เกิดจากสนามยิงปืนอย่างถูกต้องช่วยให้สามารถนำข้อมูลเหล่านั้นไปใช้ในการออกแบบระบบลดเสียงของสนามยิงปืนได้อย่างเชื่อถือได้และมีประสิทธิภาพจริง

การแก้ไขปัญหาเสียงดังจากสนามยิงปืนเป็นกระบวนการที่ต้องมีการวัดและวิเคราะห์เสียงอย่างรอบคอบเพื่อให้ได้แนวทางการแก้ไขที่เหมาะสมและมีผลลัพธ์ที่ดีที่สุดสำหรับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ด้วยการเชื่อมั่นในข้อมูลที่ถูกต้องและการวิเคราะห์ที่ทันสมัย การแก้ไขปัญหาเสียงจากสนามยิงปืนจะสามารถทำให้บรรยากาศที่อยู่และทำงานใกล้เคียงกับสนามยิงปืนเป็นไปอย่างเรียบง่ายและไม่เป็นที่รำคาญต่อผู้คนในบริเวณนั้น

ปัญหาเสียงจากสนามยิงปืน

สนามเปิดสำหรับเอกชน เป็นสนามสำหรับผู้ที่มีใบอนุญาตครอบครองอาวุธปืนอย่างถูกต้องตามกฎหมาย หรือบุคคลทั่วไปสามารถเข้าไปใช้บริการสนามยิงปืนได้

สนามปิดสำหรับเจ้าหน้าที่ เป็นสนามยิงปืนสำหรับเจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ หรือหน่วยปฏิบัติการพิเศษเท่านั้น ซึ่งจะไม่เปิดให้บุคคลทั่วไปเข้ามาใช้สนามยิงปืน

ปัจจัยของความดังเสียงขณะยิงปืน

- ความดังเสียงขณะยิงปืนมีพารามิเตอร์ที่ทำให้เสียงขณะยิงปืนดังไม่เท่ากัน เช่น ชนิดของกระสุน ความถี่ในการยิง จำนวนคนยิง ระยะเวลาในการยิง เป็นต้น

- ระยะห่างระหว่างผู้ได้รับผลกระทบและสนามยิงปืน ยิ่งสนามยิงปืนอยู่ใกล้กับบ้านหรือพื้นที่ของผู้ได้รับผลกระทบมาก ก็จะยิ่งทำให้ได้รับการสัมผัสเสียงที่เป็นอันตรายมากหรือรบกวนมาก

วิธีการวัดเสียงรบกวนมี 4 กรณี (ซึ่งเสียงยิงปืนอยู่ในกรณีที่ 3 (ใน 1 ชม. เสียงเกิดมากกว่า 1 ช่วง))

- กรณีที่เสียงจากแหล่งกำเนิดเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ 1 ชั่วโมงขึ้นไป

 

- กรณีที่เสียงจากแหล่งกำเนิดเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องแต่ไม่ถึง 1 ชั่วโมง

- กรณีที่เสียงจากแหล่งกำเนิดเกิดขึ้นไม่ต่อเนื่องและเกิดขึ้นมากกว่า 1 ช่วงเวลา โดยแต่ละช่วงเกิดไม่ถึง 1 ชั่วโมง

- กรณีบริเวณที่ตรวจวัดเป็นพื้นที่ที่ต้องการความเงียบสงบ หรือเสียงของแหล่งกำเนิดเกิดในช่วง 22.00-06.00 น.

การวัดเสียงรบกวนจากสนามยิงปืน จะใช้วิธีการวัดและเครื่องมือตามประกาศคณะกรรมการสิ่งแวดลอ้มแห่งชาติ ฉบับที่ 29 (พ.ศ.2550) เรื่องค่าระดับเสียงรบกวน และคณะกรรมการควบคุมมลพิษ เรื่อง วิธีการตรวจวัดระดับเสียงพื้นฐาน ระดับเสียงขณะไม่มีการรบกวน การตรวจวัดและคำนวณระดับเสียงขณะมีการรบกวน การคำนวณค่าระดับการรบกวน และแบบบันทึกการตรวจวัดเสียงรบกวน พ.ศ.2565 ลงวันที่ 21 กันยายน 2565 (ราชกิจจานุเบกษาเล่ม 139 ตอนพิเศษ 266 ง วันที่ 11 พฤศจิกายน 2565) ซึ่งสรุปการวัดเสียงรบกวนจากสนามยิงปืนให้เข้าใจแบบง่าย ๆก็คือ

1. ตั้งเครื่องวัดเสียงในพื้นที่ของผู้ได้รับผลกระทบ

เช่น ลานบ้าน หน้าบ้าน หน้าห้อง ในห้อง หรือเป็นพื้นที่ที่ใช้ชีวิตประจำวันของผู้ได้รับผลกระทบ แต่จะไม่ตั้งเครื่องวัดเสียงในเขตพื้นที่ของสนามยิงปืน

2. วัดระดับเสียงพื้นฐาน (L90) และระดับเสียงขณะไม่มีการยิงปืน

เป็นการเก็บข้อมูลเสียงขณะไม่มีการยิ่งปืน ซึ่งต้องเก็บอย่างน้อยชุดละ 5 นาที และไม่น้อยกว่า 3 ชุด เพื่อใช้ในการหาค่ากลางของระดับเสียงพื้นฐานและระดับเสียงขณะไม่มีการยิงปืน

3. วัดระดับเสียงขณะมีการยิงปืน

4. นำค่าที่ได้มาเข้าสมการคำนวณระดับเสียงเฉลี่ยขณะยิงปืน (ที่ยิงทุกนัดภายใน 1 ชม.)

5. คำนวณระดับเสียงขณะมีการรบกวน

6. ปรับค่าระดับเสียงขณะมีการรบกวน (+5 dBA เสียงกระแทก เสียงแหลมดัง)

ในกรณีที่เสียงปืนมีลักษณะของเสียงกระแทกและเสียงแหลมดัง จะต้องเพิ่มระดับเสียงอีก 5 dBA เพื่อความสมบูรณ์ก่อนที่จะนำค่าที่ได้ไปลบกับระดับเสียงพื้นฐาน (L90) ตามข้อบังคับ

กรณีศึกษาในคู่มือวัดเสียงรบกวน พ.ศ.2565 ที่จัดทำร่วมกับ สถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม มีประโยชน์ในการเสริมความเข้าใจเกี่ยวกับหลักการวัดเสียงรบกวนและการประเมินระดับเสียงในสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ ซึ่งเป็นข้อมูลที่มีความสำคัญในการดำเนินการลดเสียงและควบคุมปัญหาเสียงให้เหมาะสม

ดังนั้น การเพิ่มระดับเสียงก่อนที่จะนำไปลบกับระดับเสียงพื้นฐาน และการใช้ข้อมูลจากคู่มือวัดเสียงรบกวนเป็นเครื่องมือที่มีประโยชน์ในการแก้ไขปัญหาเสียงรบกวนและให้ผลลัพธ์ที่มีประสิทธิภาพต่อสิ่งแวดล้อมและคุณภาพชีวิตของประชาชนในท้องถิ่นนั้น ๆ