ไซเลนเซอร์สำหรับแก้ปัญหาเสียงรบกวน
"ไซเลนเซอร์ (Silencer)เป็นอุปกรณ์ที่ใช้เพื่อลดระดับความดันเสียงเมื่อมีเสียงรบกวนเกินค่ามาตรฐานในท่อไอเสีย ท่อส่งลม ท่อจ่ายลม หรือท่อลมทิ้งจากระบบบำบัดมลพิษอากาศ มีทั้งแบบดูดกลืน (Absorptive Silencer): ใช้ดูดกลืนเสียงในช่วง Wideband 500-4000 Hz เพื่อลดระดับเสียง และแบบสะท้อน (Reactive Silencer): ใช้สำหรับเสียง Single or Low Frequency หรือ Tonal Noise เพื่อลดความเข้มข้นของเสียง ข้อจำกัดของไซเลนเซอร์ คือ ต้องมีการคำนวณตามหลักวิศวกรรมเพื่อลดลมอั้น และตัวไซเลนเซอร์อาจเกิดเสียงในตัวหรือ Self-Generated Noise หากออกแบบไม่ดี"
นิยามของไซเลนเซอร์ หรือมัฟเลอร์ หรือหม้อพักเสียง
ไซเลนเซอร์ (Silencer) คือ อุปกรณ์ลดระดับความดันเสียงที่ใช้แก้ปัญหาจากเสียงรบกวน หรือเสียงดังเกินค่ามาตรฐานของท่อไอเสีย ท่อส่งลม ท่อจ่ายลม หรือท่อปล่อยลมที่ผ่านจากระบบบำบัดมลพิษอากาศแล้ว (ท่อลมทิ้ง) เมื่อไรต้องใช้ไซเลนเซอร์ ไซเลนเซอร์ (Silencer) ถูกนำมาใช้เมื่อมีปัญหาเสียงรบกวนจากท่อลมเข้าหรือท่อลมออก และมีระดับความดันเสียงเกินค่ามาตรฐานที่กฎหมายกำหนดหรือเป็นเสียงดังรบกวนที่กระทบกับชุมชนใกล้แหล่งกำเนิดเสียง
ไซเลนเซอร์ สามารถแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ดังนี้
1.แบบดูดกลืน (Absorptive Silencer) จะใช้กันมากที่สุด ซึ่งถูกออกแบบมาให้ลดเสียงที่อยู่ในช่วง Wideband 500-4000 Hz โดยใน Absorptive Silencer จะมีวัสดุดูดกลืนเสียงกรุอยู่ข้างใน เมื่อคลื่นเสียงมากระทบกับวัสดุดูดกลืนนี้ พลังงานเสียงก็จะถูกดูดกลืนไว้ในเนื้อวัสดุ ทำให้ระดับเสียงลดลง
2.แบบสะท้อน (Reactive Silencer) จะใช้สำหรับปัญหาเสียงที่เป็น Single or Low Frequency หรือ Tonal Noise เป็นหลัก ไซเลนเซอร์แบบนี้จะไม่มีพวกวัสดุดูดกลืนเสียง แต่จะออกแบบให้มีท่อที่ถูกเจาะรูในขนาดต่างๆกันอยู่ด้านใน เมื่อมีคลื่นเสียงผ่านมาก็จะถูกสลายหรือทำให้ความเข้มเสียงลดลง
ไซเลนเซอร์ สามารถลดเสียงได้ตั้งแต่ 10-35 dBA โดยทั่วไปจะมีอยู่ด้วยกัน 3 เกรด
1. Industrial Grade ใช้สำหรับแก้ปัญหาเสียงในโรงงานอุตสาหกรรม สามารถลดเสียงได้ประมาณ 10-15 dBA
2. Residential Grade ใช้กับแหล่งกำเนิดเสียงที่อยู่ใกล้กับชุมชน สามารถลดเสียงได้ประมาณ 20-25 dBA
3. Hospital Grade ใช้สำหรับโรงพยาบาลหรือสถานที่ต้องการความเงียบสงบเป็นพิเศษ สามารถลดเสียงได้ตั้งแต่ 30 dBA ขึ้นไป
ตัวอย่างการแก้ปัญหาเสียงรบกวนด้วยไซเลนเซอร์ ได้แก่
ท่อลมทิ้งของระบบบำบัดมลพิษอากาศ ท่อลมเข้าสำหรับระบบผลิตสินค้าที่ใช้ลมเป่าวัตถุดิบ ระบบทำความเย็นในอาคารหรือ AHU และ คูลลิ่งทาวเวอร์ เป็นต้น
ข้อจำกัดของไซเลนเซอร์ (Silencer)
ต้องมีการคำนวณให้เหมาะสมตามหลักวิศวกรรม เพราะการติดตั้งไซเลนเซอร์ (Silencer) จะมีลมอั้น(Pressure Drop) เกิดขึ้น จึงต้องมีการคำนวณอย่างละเอียดในการออกแบบ ข้อจำกัดอีกอย่าง คือ ตัวไซเลนเซอร์ (Silencer) จะมีเสียงในตัวเมื่อถูกติดตั้งใช้งานหรือ เรียกว่า Self-Generated Noise ถ้าหากมีการออกแบบไม่ดี ตัวไซเลนเซอร์อาจกลายเป็นแหล่งกำเนิดเสียงเพิ่มขึ้นมาอีกตัวได้
ที่สำคัญคือไซเลนเซอร์ (Silencer) ที่จะลดเสียงได้ดีหรือมีประสิทธิภาพ ควรออกแบบให้ถูกต้องตามหลักวิศวกรรม หรือออกแบบ Case by Case เพื่อให้มีความเหมาะสมกับลักษณะของความถี่เสียงของแหล่งกำเนิดเสียง อันจะช่วยให้ลดเสียงได้มากสุดแต่มีลมอั้นต่ำสุดนั่นเอง