ความรู้ >> ผนังกันเสียงบนทางด่วนนำมาใช้ในโรงงานได้หรือไม่
KNOWLEDGE
ความรู้

ผนังกันเสียงบนทางด่วนนำมาใช้ในโรงงานได้หรือไม่

"ผนังกันเสียงบนทางด่วนไม่ได้ถูกออกแบบมาสำหรับเสียงกระแทก (Impulsive Noise) ที่อาจเกิดจากเครื่องปั๊มโลหะในโรงงานอุตสาหกรรม ดังนั้นการนำผนังกันเสียงบนทางด่วนมาใช้ในโรงงานจำเป็นต้องพิจารณาปัจจัยต่าง ๆ เช่น ระดับเสียง ระยะทางระหว่างแหล่งกำเนิดเสียงกับชุมชน และความถี่ของเสียง หากทำได้: จะเหมาะสำหรับเสียงความถี่กลางถึงสูง และมีพื้นที่เงาพอที่จะเกิดค่า Transmission Loss สูง และทำไม่ได้: ไม่เหมาะสำหรับเสียงความถี่ต่ำ หรือเสียงรบกวนที่มีความสั่นสะเทือนร่วมด้วย และหลังกำแพงไม่ครอบคลุมพื้นที่ของผู้รับเสียง"

ผนังกันเสียงหรือกำแพงกันเสียง นิยมนำมาใช้แก้ปัญหาเสียงที่มีแหล่งกำเนิดเสียงในลักษณะที่เป็นแนวยาว หรือที่เราคุ้นตากันในชีวิตประจำวันก็คือ กำแพงกันเสียงที่ติดตั้งบนทางด่วน ผนังกันเสียงหรือกำแพงกันเสียงจะติดตั้งในตำแหน่งที่มีเสียงผ่าน (Paths) เพื่อทำหน้าที่สะท้อนเสียงให้กลับไปยังแหล่งกำเนิดเสียง นับว่าเป็นหนึ่งวิธีในการแก้ไขปัญหาเสียงรบกวน ระหว่างแหล่งกำเนิดเสียงกับผู้รับเสียง (Noise Path Control) ที่นิยมใช้ในการแก้ปัญหาเสียงรบกวนทางสิ่งแวดล้อม

ผนังกันเสียงหรือวัสดุกันเสียงที่ติดตั้งบนทางด่วน ที่เราพบเห็นจะมีหลายรูปแบบ เช่น แบบซีเมนต์หล่อ แบบผ้าใยแก้วหุ้มกรุในเฟรมโลหะ หรือแบบโพลีคาร์บอเนตที่ใช้สำหรับงานที่ไม่มีค่าใช้จ่ายสูง โดยผนังกันเสียงบนทางด่วนจะมีคุณสมบัติทั้งสะท้อนเสียง และดูดกลืนเสียง นอกจากนี้ ผนังกันเสียงบนทางด่วนยังถูกออกแบบมากว้างๆ เพื่อใช้สำหรับลดเสียงจากเครื่องยนต์และเสียงจากยางบดถนน โดยอยู่ในย่านความถี่ 500-2000 Hz มีค่า Transmission loss ที่ดีในย่านความถี่นี้ แต่ไม่ได้ถูกออกแบบมาสำหรับเสียงกระแทก (Impulsive Noise) ที่อาจเกิดขึ้นจากเครื่องเพรส หรือเครื่องปั๊มโลหะ ในโรงงานอุตสาหกรรม

คำถาม: ผนังกันเสียงบนทางด่วนนำมาใช้ในโรงงานได้หรือไม่ ?

การนำผนังกันเสียงบนทางด่วนมาใช้ลดเสียงในโรงงาน ส่วนใหญ่มักจะนำมาใช้แก้ปัญหาเสียงรบกวน ระหว่างโรงงานกับชุมชนนอกโรงงาน โดยการที่จะนำมาใช้ลดเสียงรบกวนจากโรงงานต้องพิจารณาจากปัจจัยดังต่อไปนี้

 

1. ระดับเสียง กล่าวคือ ระดับความดันเสียงเฉลี่ยดังอยู่มาก-น้อยเท่าไหร่ เพราะในการแก้ปัญหาเรื่องเสียงระดับเสียงมาก กับระดับเสียงน้อยจะใช้ผนังกันเสียงที่มีคุณสมบัติแตกต่างกัน

2. ระยะทางระหว่างโรงงานหรือแหล่งกำเนิด กับชุมชนที่ได้รับผลกระทบทางเสียงนอกโรงงาน

3. ความถี่เสียง (Noise Frequency) เช่น ความถี่ต่ำ (35-300 Hz) จะลดเสียงได้น้อย และความถี่กลางถึงสูง (500-4000 Hz) จะลดเสียงได้ดีกว่าความถี่ต่ำ แต่ต้องขึ้นอยู่กับพื้นที่เงา (Shadow Zone) ถ้าเราสร้างผนังกันเสียงได้สูง จะทำให้มีพื้นที่เงามากขึ้น ทำให้ลดเสียงได้ดีขึ้น

สรุป ผนังกันเสียงบนทางด่วนนำมาใช้ในโรงงานได้หรือไม่ ? คำตอบคือมีทั้งได้ และไม่ได้

ได้ – ในกรณีที่เสียงรบกวนเป็นเสียงความถี่กลางถึงสูง (500-4000 Hz) และไม่ได้มีลักษณะเป็นเสียงกระแทก และมีพื้นที่เงา (Shadow Zone) หลังผนังกันเสียงมากพอที่ก่อให้เกิดค่า Transmission Loss สูง

ไม่ได้ – ในกรณีที่เสียงรบกวนเป็นเสียงความถี่ต่ำ (300 Hz ลงไป) หรือเสียงรบกวนมีความสั่นสะเทือนร่วมด้วย รวมไปถึงพื้นที่เงา (Shadow Zone) หลังกำแพงไม่ได้ครอบคลุมพื้นที่ของผู้รับเสียง