กรณีศึกษา >> เสียงรบกวนจากระบบทำความเย็น
Case Study
กรณีศึกษา

กรณีศึกษาเสียงรบกวนจากระบบทำความเย็น

"การจัดการเสียงรบกวนจากระบบทำความเย็นของสถานประกอบกิจการห้องเย็น แก้ปัญหาให้ตรงจุดสามารถทำได้ด้วยการแยกความถี่เสียงรบกวน ก่อนทำการติดตั้งแผ่นซับเสียงเพื่อลดระดับเสียงสะท้อนของพัดลมในอาคาร และใช้อคูสติกลูเวอร์ติดรอบอาคารที่เป็นทางผ่านเสียง จะช่วยให้ระดับเสียงของพื้นที่ผู้ได้รับผลกระทบไม่เกินค่าการรบกวนตามที่กฎหมายกำหนด"

สถานประกอบกิจการขนาดใหญ่แห่งหนึ่ง ประกอบกิจการห้องเย็นให้บริการนำเข้า จัดเก็บ และจำหน่ายอาหารและเครื่องดื่มจากต่างประเทศให้กับลูกค้าในพื้นที่ บริษัทจะใช้ระบบทำความเย็นตลอดเวลา 24 ชั่วโมง จึงเกิดเสียงรบกวนจากระบบทำความเย็นทำให้ชาวบ้านโดยรอบสถานประกอบกิจการได้รับผลกระทบจากเสียงรบกวน โดยเฉพาะในเวลากลางคืน (เวลา 22.00 - 06.00 น.)

ตามประกาศกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข เรื่อง กำหนดมาตรฐานเหตุรำคาญ กรณีเสียงรบกวน ประกาศ ณ วันที่ 24 มิถุนายนพ.ศ 2558 ได้กำหนดไว้

"เหตุรำคาญ" หมายถึง เหตุรำคาญตามกฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุข (พระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535 มาตรา 25 ในกรณีที่มีเหตุอันอาจก่อให้เกิดความเดือดร้อนแก่ผู้อาศัยอยู่ในบริเวณใกล้เคียง หรือผู้ที่ต้องประสบกับเหตุนั้น ให้ถือว่าเป็นเหตุรำคาญ…)

"เสียงรบกวน" หมายความว่า ระดับเสียงจากแหล่งกำเนิดในขณะมีการรบกวนที่มีระดับเสียงสูงกว่าระดับเสียงพื้นฐาน โดยมีระดับการรบกวนเกินกว่าระดับเสียงรบกวนที่กำหนดไว้ข้อ 2 ให้กำหนดระดับเสียงรบกวน เท่ากับ 10 เดซิเบลเอ
หากระดับเสียงรบกวนที่คำนวณได้ มีค่ามากกว่า 10 เดซิเบลเอ ให้ถือว่าเป็นเหตุรำคาญ
ข้อ 3 วิธีการตรวจวัดระดับเสียงพื้นฐาน ระดับเสียงขณะไม่มีการรบกวน การตรวจวัดและคำนวณระดับเสียงขณะมีการรบกวน การคำนวณค่าระดับการรบกวน และแบบบันทึกการตรวจวัดเสียงรบกวน...

"ระดับการรบกวน" หมายความว่า ค่าความแตกต่างระหว่างระดับเสียงขณะมีการรบกวน กับระดับเสียงพื้นฐาน

"ระดับเสียงพื้นฐาน" หมายความว่า ระดับเสียงที่ตรวจวัดในสิ่งแวดล้อมในขณะยังไม่เกิดเสียงหรือไม่ได้รับเสียงจากแหล่งกำเนิดที่ประชาชนร้องเรียนหรือแหล่งกำเนิดที่คาดว่าประชาชนจะได้รับการรบกวนเป็นระดับเสียงที่ร้อยละ 90 (90 Percent Level, LA90)

"ระดับเสียงขณะมีการรบกวน" หมายความว่า ระดับเสียงที่ได้จากการตรวจวัดและจากการคำนวณระดับเสียงในขณะเกิดเสียงของแหล่งกำเนิด ซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดที่ประชาชนร้องเรียนหรือแหล่งกำเนิดที่คาดว่าประชาชนจะได้รับการรบกวน

 "ระดับเสียงขณะไม่มีการรบกวน" หมายความว่า ระดับเสียงที่ตรวจวัดในสิ่งแวดล้อมในขณะยังไม่เกิดเสียงหรือไม่ได้รับเสียงจากแหล่งกำเนิดที่ประชาชนร้องเรียนหรือแหล่งกำเนิดที่คาดว่าประชาชนจะได้รับการรบกวน เป็นระดับเสียงเฉลี่ย (LAeq)

ทาง NTI ได้ลงพื้นที่เก็บข้อมูล พบว่าช่วงเวลากลางคืนขณะไม่มีเสียงรบกวนมีระดับเสียงอยู่ที่ประมาณ 40 dBA แต่เมื่อระบบทำความเย็นทำงานวัดเสียงขณะมีการรบกวนได้ถึง 60 dBA ซึ่งพบสาเหตุหลักของเสียงรบกวนจากระบบทำความเย็นคือ เสียงจากพัดลมระบายความร้อนของคอมเพรสเซอร์ห้องเย็นมีจำนวน 12 ชุด ที่ตั้งอยู่บนชั้นสองของอาคารคอนกรีตในสถานประกอบกิจการ ซึ่งสาเหตุของปัญหาเรื่องเสียงคอมเพรสเซอร์ ที่พบบ่อยๆ มีดังนี้

- การทำงานต่อเนื่องของคอมเพรสเซอร์เป็นเวลานาน
- การสั่นสะเทือนของอุปกรณ์
- การติดตั้งที่ไม่เหมาะสม
- การขาดการบำรุงรักษา

เมื่อ NTI ได้ทราบแหล่งกำเนิดเสียงรบกวนจากระบบทำความเย็นที่มาจากพัดลมระบายความร้อนของคอมเพรสเซอร์ห้องเย็น จึงได้เข้าตรวจสอบโดยใช้ระเบียบวิธีวิจัยทางวิทยาศาสตร์ประยุกต์ด้วยเครื่องมือทางวิศวกรรมด้านเสียงพบว่าส่วนประกอบของเสียงรบกวนมีทั้งเสียงของพัดลมระบายความร้อนคอมเพรสเซอร์และเสียงสะท้อนที่เกิดขึ้นภายในอาคารที่ติดตั้งพัดลม NTI ได้นำข้อมูลทั้งหมดมาวิเคราะห์ ได้แนวทางในการแก้ปัญหา ดังนี้

1 ลดเสียงโดยติดตั้งระบบลดเสียงสะท้อนภายในอาคารเฉพาะพื้นที่ที่จำเป็น
- ช่วยลดการสะท้อนของเสียงภายในพื้นที่ (Reverberation)
- เหมาะสำหรับการควบคุมเสียงในบริเวณที่เป็นแหล่งกำเนิด
- การติดตั้งเฉพาะพื้นที่จำเป็นจะช่วยประหยัดค่าใช้จ่าย

2 ติดตั้งบานเกล็ดลดเสียง (acoustic louvers) ที่เหมาะสมกับความถี่เสียงและกำลังงานเสียง (sound power level)
- การติดตั้งบานเกล็ดลดเสียงจะเป็นออกแบบเฉพาะสำหรับการลดเสียงโดยยังคงการระบายอากาศได้
- การเลือกบานเกล็ดลดเสียงให้เหมาะสมกับความถี่เสียงจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการลดเสียง
- การเลือกบานเกล็ดลดเสียงโดยคำนึงถึงกำลังงานเสียงจะช่วยให้เลือกขนาดและประสิทธิภาพที่เหมาะสม ช่วยประหยัดค่าใช้จ่าย

หลังการปรับปรุงโดยติดตั้งระบบลดเสียงสะท้อนภายในอาคารและบานเกล็ดลดเสียงแล้ว NTI ได้ลงพื้นที่เก็บข้อมูลอีกครั้ง พบผลลัพธ์หลังจากปรับปรุงสามารถวัดเสียงขณะที่พัดลมคอมเพรสเซอร์ทำงาน 60 dBA ลดลงเหลือเพียง 42 dBA การลดลงของเสียง 18 dBA ถือเป็นการลดลงอย่างมีนัยสำคัญ เป็นการแก้ปัญหาเสียงรบกวนได้อย่างมีประสิทธิภาพ แก้ไขได้ด้วยวิธีการทางวิศวกรรมที่เหมาะสม สร้างความพึงพอใจให้กับผู้ได้รับผลกระทบ สถานประกอบกิจการสามารถอยู่รวมกับชาวบ้านโดยรอบ จบปัญหาเสียงรบกวน