ความรู้ >> ตู้ครอบลดเสียงมอเตอร์...รุ่นห้ามพัดลมทำงาน
KNOWLEDGE
ความรู้

ตู้ครอบลดเสียงมอเตอร์...รุ่นห้ามพัดลมทำงาน

"การออกแบบตู้ครอบลดเสียงมอเตอร์ต้องคำนวณเรื่องการระบายความร้อน ความสะดวกในการถอดประกอบหรือเข้าถึงเมื่อต้องการซ่อมบำรุงอุปกรณ์ น้ำหนักของตู้ครอบ และการดูแลรักษาในระยะยาว ตู้ครอบลดเสียงมีทั้งแบบติดตั้งถาวร และแบบถอดได้ โดยการระบายความร้อนในตู้ครอบมอเตอร์เป็นสิ่งที่สำคัญ เพื่อป้องกันการสะสมความร้อนภายในตู้ครอบและป้องกันความปลอดภัยของมอเตอร์"

Acoustic Enclosure หรือตู้ครอบลดเสียง (บ้างก็เรียกตู้กันเสียง) เป็นวิธีการลดเสียงทางวิศวกรรมโดยการปิดคลุมที่แหล่งกำเนิดเสียงโดยตรง ตู้ครอบลดเสียงจัดเป็นอุปกรณ์ที่ช่วยในการลดระดับเสียงดังรบกวนลงได้มากที่สุดชนิดหนึ่ง (มากกว่า 30 dBA กรณีที่ปิดได้ทุกด้านและใช้วัสดุได้เหมาะสม) ที่สำคัญคือตู้ครอบลดเสียงในบางกรณีจะมีค่าใช้จ่ายต่ำกว่าการทำผนังกันเสียงหรือติดวัสดุดูดซับเสียงเป็นอย่างมาก

การออกแบบตู้ครอบลดเสียงนอกจากการคำนวณเรื่องระดับเสียงที่ลดลงแล้ว ยังต้องคำนวณเรื่องการระบายความร้อน ความสะดวกในการถอดประกอบหรือเข้าถึงเมื่อต้องมีการซ่อมบำรุงอุปกรณ์ รวมไปถึงน้ำหนักของตู้ครอบลดเสียงและการดูแลรักษาในระยะยาวด้วย ตู้ครอบลดเสียงยังสามารถออกแบบให้เป็นแบบติดตั้งถาวรโดยใช้วัสดุที่เป็นโลหะหรือพลาสติกวิศวกรรม หรือเป็นแบบถอดได้เพื่อให้เคลื่อนย้ายได้โดยสะดวกด้วยการใช้วัสดุน้ำหนักเบา เช่น ผ้า ยางสังเคราะห์ อลูมิเนียมคอมโพสิท เป็นต้น

จากกรณีศึกษาปัญหาที่เกิดขึ้นจริง... มีทางโรงงานอุตสาหกรรมแห่งหนึ่งประสบปัญหาเกี่ยวกับระดับเสียงของมอเตอร์ที่เกินค่ามาตรฐานทางอาชีวอนามัยและความปลอดภัยต่อพนักงาน จึงได้ออกแบบ Acoustic Enclosures หรือตู้ครอบลดเสียงมอเตอร์ โดยออกแบบให้มีการกันเสียงพร้อมมีช่องระบายความร้อน 3 ช่อง เมื่อส่งแบบให้ผู้รับเหมาที่รับทำตู้ครอบลดเสียงดำเนินการ พบว่าผู้รับเหมาขอส่งมอบงานโดยห้ามเปิดพัดลมระบายอากาศขณะที่มอเตอร์ทำงาน เพราะกลัวเสียงจะผ่านช่องระบายความร้อนออกมาและทำให้ส่งงานไม่ผ่าน ซึ่งจริงๆแล้วช่องที่ว่านี้สามารถติดตั้งบานเกล็ดลดเสียง (Acoustic Louver) หรือใช้หลักการลดเสียงด้วยตัวกรองเสียง (Sound Attenuator) เพื่อให้ระดับเสียงลดลงได้

การออกแบบตู้ครอบมอเตอร์ไม่เพียงเพียงต้องสามารถลดเสียงให้มอเตอร์ทำงานในสภาพเงียบ แต่ยังต้องสามารถระบายความร้อนออกจากตู้ครอบเพื่อป้องกันการสะสมความร้อนภายในตู้ครอบที่อาจทำให้มอเตอร์เสื่อมสภาพได้ ปัญหาที่สำคัญคือหากตู้ครอบลดเสียงถูกออกแบบแล้ว แต่ไม่สามารถใช้พัดลมระบายความร้อนได้ มอเตอร์ภายในตู้ครอบอาจเกิดความร้อนสะสมที่ส่งผลให้วานิช (เคลือบขดลวดทองแดงสำหรับมอเตอร์ไฟฟ้า) ที่อยู่ภายในมีอายุการใช้งานลดลง หรือเสื่อมเสถียรภาพของมอเตอร์ ซึ่งอาจทำให้มอเตอร์มีอุณหภูมิสูงมากขึ้น ทำให้เสียจ่ายพลังงานและลดประสิทธิภาพของมอเตอร์ ในบางกรณีมอเตอร์บางรุ่นอาจถูกออกแบบให้ทำงานได้ปกติในอุณหภูมิห้องทั่วไปเท่านั้น และหากเกิดอุณหภูมิสูงมากๆ ระบบอาจตัดการทำงานของมอเตอร์เพื่อรักษาความปลอดภัย

การระบายความร้อนในตู้ครอบมอเตอร์จึงเป็นสิ่งสำคัญเพื่อป้องกันการสะสมความร้อนอย่างเหมาะสมภายในตู้ครอบ การออกแบบตู้ครอบลดเสียงที่มีระบบระบายความร้อนที่มีประสิทธิภาพสามารถช่วยป้องกันการสะสมความร้อนในตู้ครอบซึ่งอาจเสื่อมสภาพของมอเตอร์และลดประสิทธิภาพของมอเตอร์ หากตู้ครอบไม่สามารถระบายความร้อนอย่างเหมาะสม อาจทำให้มอเตอร์มีอุณหภูมิสูงมากขึ้น ทำให้เสียพลังงานและลดประสิทธิภาพของมอเตอร์ ดังนั้น เราจึงควรให้ความสำคัญกับการระบายความร้อนในตู้ครอบ